fbpx ยูเนสโกประกาศรายชื่ออุทยานธรณี 18 แห่งใหม่เข้าสู่เครือข่ายอุทยานธรณีโลก | UNESCO Regional Office in Bangkok

ยูเนสโกประกาศรายชื่ออุทยานธรณี 18 แห่งใหม่เข้าสู่เครือข่ายอุทยานธรณีโลก

ยูเนสโกประกาศรายชื่ออุทยานธรณี 18 แห่งใหม่เข้าสู่เครือข่ายอุทยานธรณีโลก

การรับรองอุทยานธรณีโคราชในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


คณะกรรมการบริหารของยูเนสโกได้รับรองอุทยานธรณี 18 แห่งใหม่เข้าสู่เครือข่ายอุทยานธรณีโลก (GGN) ของยูเนสโก จึงทำให้อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกมีจำนวนทั้งสิ้น 195 แห่ง ใน 48 ประเทศทั่วโลก ในโอกาสนี้ มีรัฐสมาชิกของยูเนสโก 2 ประเทศที่เพิ่งเข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวในปี 2566 ได้แก่ นิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์

การเรียกขานให้เป็น ‘อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก’ ริเริ่มในปี 2558 เพื่อยกย่องมรดกทางธรณีวิทยาที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ อุทยานธรณีมีประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นเนื่องจากผสมผสานการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยาที่สำคัญเข้ากับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชนและแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาที่ใส่ใจในระบบนิเวศ

ในบรรดาอุทยานธรณี 18 แห่งใหม่นี้ มี 10 แห่งที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดังต่อไปนี้

อินโดนีเซีย (3 แห่ง) อิหร่าน (2 แห่ง) ญี่ปุ่น (1 แห่ง) มาเลเซีย (1 แห่ง) ฟิลิปปินส์ (1 แห่ง) สาธารณรัฐเกาหลี (1 แห่ง) และไทย (1 แห่ง)  ทำให้มีอุทยานธรณีโลกในเครือข่ายของยูเนสโกรวม 195 แห่ง

อุทยานธรณีโคราช ประเทศไทย อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก

การรับรองอุทยานธรณีโคราชเข้าสู่เครือข่ายอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกในปีนี้ ทำให้ประเทศไทยมีอุทยานธรณีโลกทั้งสิ้น 2 แห่ง แห่งแรกอยู่ที่จังหวัดสตูล ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งอุดมไปด้วยซากดึกดำบรรพ์จากมหายุคพาลีโอโซอิก ทั้งนี้ อุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกตั้งแต่ปี 2561

อุทยานธรณีโลกโคราชต่างจากอุทยานธรณีโลกสตูลเนื่องจากอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ลุ่มน้ำลำตะคอง ทางขอบทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ราบสูงโคราช จังหวัดนครราชสีมา ป่าเต็งรังพบได้ทั่วไปในบริเวณนี้ และลักษณะทางธรณีวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์คือ อุดมไปด้วยซากดึกดำบรรพ์หลากหลาย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 10,000 ปี ถึง 16 ล้านปี อีกทั้งยังพบซากดึกดำบรรพ์จำนวนมากของไดโนเสาร์และสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น ช้างดึกดำบรรพ์ที่อำเภอเมืองนครราชสีมา และยังพบไม้กลายเป็นหินในแหล่งทรายและหินกรวดธรรมชาติที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติและอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

มรดกทางธรณีวิทยานี้จึงทำให้อุทยานธรณีโลกโคราชนิยามตัวเองว่าเป็น ‘มหานครแห่งบรรพชีวิน’ ของโลก วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นี้เรียกว่า ‘ไทโคราช’ ตามกลุ่มชาติพันธุ์โบราณที่มีภาษาและประเพณีทางดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะ โคราชยังเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากชื่อวิทยาศาสตร์สำหรับสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดใหม่ ซึ่งได้รับการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในอุทยานธรณีโลกแห่งใหม่นี้ เช่น จระเข้ ‘โคราโตซูคัส จินตสกุลไล’ และไดโนเสาร์ ‘สิรินธรน่า โคราชเอนซิส’

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.unesco.org/en/articles/unesco-names-18-new-global-geoparks


สื่อมวลชนสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ยูเนสโก กรุงเทพฯ pio.bangkok(at)unesco.org.