การประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน 2022
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมด้วยกระทรวงศึกษาธิการของไทย สำนักงานยูเนสโกเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ยูเนสโก กรุงเทพฯ), กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก, กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย, องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ได้จัดการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน (International Conference on Equitable Education: Together towards Equity) ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2565
นับตั้งแต่ต้นปี 2020 วิกฤตการระบาดใหญ่ของไวรัส COVID-19 ได้สร้างความท้าทายต่อรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงครูและนักเรียน นำไปสู่การหยุดการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยเปลี่ยนมาเป็นการเรียนแบบทางไกลผ่านระบบออนไลน์เป็นส่วนใหญ่เพื่อให้แน่ใจว่าการเรียนรู้จะสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังคงพบความแตกต่างกันอย่างมากในการจัดหาและแจกจ่ายอินเทอร์เน็ตแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลยังคงมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เสมอภาคเท่าเทียมและครอบคลุมทั่วถึงได้เสมอไป
นอกจากนี้ หากแนวทางการสอนของครูขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์ ยังจะทำให้ ‘ช่องว่างทางดิจิทัล’ ในระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงมากขึ้น และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ของรัฐบาลไปยังโรงเรียนที่ไม่เพียงพอ สวนทางกับรายงานการศึกษาที่สรุปภาพกว้างว่าการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้สร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบ หรือ out-of-school children, and youth (OOSCY) ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และผู้เรียนที่อยู่ชายขอบ ในขณะที่เส้นทางสู่การฟื้นตัวกลับยังคงขาดความชัดเจนด้วยเหตุนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน จึงได้ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการศึกษาที่เสมอภาค ครั้งที่ 2 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ มุ่งสู่ความเสมอภาคร่วมกัน (Together Towards Equity) ระหว่างวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2022 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในความมุ่งมั่นพัฒนาโครงการริเริ่มด้านการศึกษาที่เท่าเทียมเสมอภาคกันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการศึกษาในการเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายรูปแบบ ไม่ว่าการระบาดใหญ่ของไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2020 และหรือความท้าทายอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับการจัดประชุมนานาชาติครั้งนี้มีขึ้นหลังจากประสบความสำเร็จในการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่อง ปวงชนเพื่อการศึกษา ครั้งที่ 1 : ความเสมอภาคทางการศึกษา ( the 1st International Conference on All for Education: Equitable Education) และการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยครูและความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (the Regional Conference on Teachers and Equitable Education: All for Education in Southeast Asia) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นราว 2,400 คน และ 3,200 คน ตามลำดับ
ทั้งนี้ เพื่อสานต่อความพยายามดังกล่าวในการมุ่งหน้าสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา ตลอดจนการสร้างแรงผลักดันระดับโลกและระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการศึกษาที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน การประชุมจะหารือกันถึงกลยุทธ์ของรัฐบาลในการดูและกลุ่ม OOSCY ตลอดจนแนวโน้มใหม่ของการเรียนรู้ในระบบดิจิทัลและโครงการฟื้นฟูสำหรับกลุ่มชายขอบและผู้ด้อยโอกาสในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัส COVID-19 เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะที่จำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีและการทำงานตลอดชั่วชีวิต โดยการอภิปรายในหมู่ผู้เข้าร่วมการประชุมจะเกี่ยวข้องกับการนำระบบการศึกษา การประเมิน และแนวทางของพันธมิตรไปปรับใช้เพื่อจัดการกับประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม OOSCY
นอกจากนี้ การประชุมยังจะสร้างความตระหนักและอำนวยความสะดวกในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อความเสมอภาคในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และสะท้อนถึงกลยุทธ์ กลไก และแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมในแต่ละบริบท สำหรับข้อเสนอแนะทางเทคนิคที่มีการหยิบยกมาหารือพูดคุย หรือนำไปปรับใช้จะได้รับการพัฒนาจากการประชุมโดยคำนึงถึงการอภิปรายของผู้เข้าร่วม และถ้อยแถลงการณ์กรุงเทพฯ 2022 ‘มุ่งสู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสำหรับทุกคนและพลิกโฉมการศึกษาในเอเชียแปซิฟิก’ ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีการศึกษาระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (APREMC-II) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 และผลของการประชุมสุดยอดปฏิรูปการศึกษา (TES) ที่จัดโดยสหประชาชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 77 ที่นครนิวยอร์ก เมื่อกลางเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา
อนึ่ง ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำด้านการศึกษา นักการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จะมีโอกาส 1) ได้รับความรู้โดยตรงเกี่ยวกับประสบการณ์ระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมผ่านระบบการศึกษา 2) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมงาน และ 3) ร่วมมือกันสนับสนุนความพยายามที่มีอยู่และแนวทางใหม่สู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
ทั้งนี้ ความพยายามในการสร้างหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านการศึกษานอกระบบครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายในการมุ่งเน้นไปที่การรักษาความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มคนชายขอบ ขณะเดียวกัน ก็สามารถนำเอาหลักการเดียวกันหลายประการที่อยู่ภายใต้การศึกษานอกระบบมาปรับประยุกต์ใช้กับบริบทต่างๆ ภายในการศึกษาในระบบได้เช่นกัน
รูปแบบของกิจกรรม : บูรณาการระหว่างออนไลน์กับประชุม ณ สถานที่จริง (Hybrid Modality)
กำหนดการจัดงาน : 19-20 ตุลาคม 2022
– 19 ตุลาคม, เวลา 9.00 – 18.00 ตามเวลาประเทศไทย (UTC+7)
– 20 ตุลาคม, เวลา 9.30 – 16.30 ตามเวลาประเทศไทย (UTC+7)
สถานที่ประชุม: โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอนด์ แบงค็อก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ที่เซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ การประชุมจะจัดขึ้นต่อเนื่องจากงานประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำปีนี้ ซึ่งกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2022
ผู้ที่ร่วมจัดงาน :
- กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
- มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) (Save the Children Thailand)
- องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organisation – SEAMEO)
- องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) สำนักงานเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCO Asia and Pacific Regional Bureau for Education - UNESCO Bangkok)
- กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (UNICEF East Asia and Pacific Regional Office - UNICEF EAPRO)
- กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF Thailand)
ใครควรมาร่วมงาน :
- หน่วยงานราชการและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) รวมถึงนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย นักการศึกษา และตัวแทนเยาวชนทั้งหลาย รวมไปถึงผู้ที่สนใจในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
- บรรดาองค์กรที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสามารถเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ในฐานะสมาชิกของเครือข่ายพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ Equitable Education Alliance (EEA) ซึ่งเป็นชุมชนของผู้ปฏิบัติงานที่มีภารกิจในการปรับปรุงความเสมอภาคทางการศึกษาและการลดช่องว่างทางการศึกษาภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอื่น ๆ
ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเข้าร่วมงานได้ดังนี้:
สำหรับการประชุม ณ สถานที่จัดงาน: สามารถเข้าร่วมได้โดยต้องมีหมายเชิญเท่านั้น
(สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่อีเมล์ afeconference(at)eef.or.th)
สำหรับการร่วมประชุมแบบออนไลน์ ลงทะเบียนได้ที่: https://www.afe2022.eef.or.th/
ลิงค์เข้าร่วมงานจะได้รับการจัดส่งหลังร่วมลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : afeconference(at)eef.or.th
สำหรับกำหนดการประชุมภาษาไทย สามารถดูได้ที่
https://www.eef.or.th/notice/international-conference-on-equitable-education-2022/