ส่งเสริมและรักษาโขนท่ามกลางโรคระบาด
หากนับถึง พ.ศ. 2565 ก็จะเป็นเวลา 4 ปีแล้ว นับจากวันที่โขน หรือ ‘Khon, Masked Dance Drama in Thailand’ ได้รับการจารึกชื่อในบัญชีรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติโดยยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2561 แม้จะมีความพยายามดำเนินการตามแผนการส่งเสริมและรักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปได้ยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังกล่าวถึงนี้ เป็นการแสดงที่ต้องใช้นักแสดงและผู้ที่อยู่เบื้องหลังเป็นจำนวนมากสำหรับการแสดงในแต่ละครั้ง ประกอบกับการแสดงใด ๆ ก็เป็นเสมือนการสื่อสารสองทางที่มีผู้แสดงซึ่งเปรียบเสมือนผู้ส่งสาร และผู้ชมซึ่งเปรียบเสมือนผู้รับสาร ที่ต้องอยู่ในพื้นที่และห้วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤติและการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของผู้คน ย่อมเปิดโอกาสให้เราได้หาช่องทางการส่งเสริมและรักษา และนำเอาความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมกับยูเนสโกมาใช้จัดการกับมรดกทางวัฒนธรรมในองค์ประกอบที่เคยถูกมองข้ามไป
โขน เป็นการแสดงที่มีความเป็นมาและพัฒนาการที่ยาวนานหลายร้อยปี มีการปฏิบัติและสืบทอดที่ต่อเนื่อง เริ่มจากราชสำนักแล้วแพร่สู่สังคมไทยโดยรวม ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการเรียนการสอนและการถ่ายทอดศิลปะการแสดงโขนในทุกภูมิภาคของประเทศ แต่หากเราพิจารณาการแสดงโขนที่ประกอบดนตรีและการขับรองที่เราเห็นบนเวทีและ จะพบว่าโขน ยังเป็นที่หลอมรวมของประณีตศิลป์ของไทยหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม งานช่างเครื่องประดับ งานช่างปัก งานช่างไม้ และช่างประณีตศิลป์แบบไทยอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และทักษะวิธีปฏิบัติเฉพาะทางอีกหลายรายการ ซึ่งงานช่างต่าง ๆ นี้ สมควรได้รับการส่งเสริมและรักษาควบคู่ไปกับศิลปะการแสดงและดนตรีของโขน ไปในเวลาเดียวกันด้วย
ในช่วงเวลาอันยากลำบากต่อการจัดการแสดง ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมและรักษา ด้วยการจัดการแสดงออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ที่ออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แม้ว่าสุนทรียะแห่งการแสดงจะด้อยกว่าการแสดงสดก็ตาม กิจกรรมนี้ก็สามารถช่วยให้โขนยังคงมีชีวิต และสร้างการมองเห็นโดยกลุ่มผู้ชมในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในห้วงเวลาของการแพร่ระบาดนี้ ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการดำเนินกระบวนการส่งเสริมและรักษางานช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะการสำรวจและจัดทำทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามที่ได้รับการฝึกอบรมจากยูเนสโก โดยได้ดำเนินการไปแล้วสองสาขาในระยะสองปีที่ผ่านมา ได้แก่ งานช่างหัวโขนและเครื่องศิราภรณ์ และงานช่างทำเครื่องแต่งกาย ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแสดงโขนบนเวที
นิทรรศการ ‘วิจิตราภรณ์’ จัดขึ้นระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2565 © กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
หน้ากากหรือที่เรียกกันว่า ‘หัวโขน’ เป็นเครื่องสวมศีรษะที่ครอบคลุมทั้งหัว ไม่ใช่ปิดเฉพาะเพียงใบหน้า มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ หรือรามายณะในฉบับของไทย ความแตกต่างของตา จมูก ปาก ศิราภรณ์ และสี เป็นเครื่องบ่งบอกให้ผู้ชมทราบว่านักแสดงบนเวทีนั้นกำลังเล่นเป็นตัวละครตัวใด
หัวโขนที่จัดแสดงในนิทรรศการ ‘วิจิตราภรณ์’ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน © อนุชา ทีรคานนท์
ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จากฝรั่งเศส ผู้เดินทางมาสู่ราชสำนักสยามในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้บันทึกไว้ว่า การแสดงโขนของไทยนั้นใส่หน้ากากที่ดูน่าเกลียดน่ากลัว ซึ่ง ลา ลูแบร์ คงหมายถึงหน้ากากยักษ์และลิงที่นักแสดงใส่ออกมาในฉากรบนั่นเอง
การทำหัวโขน ช่างจะใช้วัสดุหลักคือกระดาษปิดซ้อนทับบนแม่แบบด้วยเทคนิคเปเปอร์มาเซ่เป็นโครงสร้างหลัก ปั้นรายละเอียดด้วยขี้เลื่อยผสมกาวและดินสอพอง ประดับลวดลายเพิ่มเติมด้วยรัก ที่กดลงบนแม่พิมพ์เป็นตัวลายชิ้นเล็กๆ เลียนแบบเครื่องศิราภรณ์ของกษัตริย์ จากนั้นจึงปิดทองด้วยแผ่นทองคำเปลว ลงสี แล้วเขียนลวดลาย ประดับด้วยกระจกหรือแก้วเจียรเหลี่ยมให้มีความแวววาว ยามต้องแสงไฟระหว่างการแสดง
คุณภาพของวัสดุที่ใช้ทำหัวโขนนั้นได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและการมีอยู่ของวัตถุดิบรอบตัวช่าง ตลอดจนปรับปรุงรายละเอียดให้มีความงดงามมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าช่างจะยังคงผลิตงานตามแนวประเพณีนิยม แต่มีความแตกต่างไปในรายละเอียดของลวดลายและวัสดุที่นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ลดขั้นตอนการเตรียมวัสดุ และเพื่อคุณภาพที่ดีขึ้นตามยุคสมัย นอกจากนี้ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาทั้งอุดมศึกษาและโรงเรียนสายวิชาชีพ ก็ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้สวมใส่ หลีกเลี่ยงวัตสดุที่มีพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีจากส่วนผสมและสีที่ใช้มากขึ้น
นักวิจัยได้อาศัยโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือจัดทำทะเบียนของช่างทำหัวโขน ซึ่งได้ข้อมูลที่ระบุตัวตน รวมถึงระบุที่พำนักของช่างเหล่านี้ ซึ่งทำให้ทราบว่า มีช่างทำหัวโขนอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นอกจากนี้ ในการศึกษารวบรวมข้อมูลยังพบว่า จากการที่โขนได้รับการจารึกชื่อเป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ยังทำให้เกิดการตระหนักรับรู้และความชื่นชมต่อการแสดงซึ่งรวมมาถึงงานช่างทำหัวโขนด้วย จึงเกิดความต้องการงานหัวโขนทั้งเพื่อสวยใส่ในการแสดงและเพื่อสะสม ทำให้เกิดผู้สนใจเรียนรู้ศิลปะการทำหัวโขนอย่างกว้างขวาง ตลอดจนมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการออกแบบหัวโขนในแนวประเพณีนิยมสำหรับตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ ที่ไม่ปรากกฏในการแสดง หรือไม่มีรูปแบบที่แน่ชัดมาก่อนอีกด้วย อันเป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ที่เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแสดงโขนในประเทศไทย ยังคงมีชีวิตชีวา และเปิดพื้นที่ให้กับการสร้างเสริมทางวัฒนธรรมในแนวประเพณีนิยมให้แข็งแรง ในขอบเขตที่ผู้ถือครองวัฒนธรรมแขนงนี้ยอมรับได้
งานช่างประเพณีอีกแขนงหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงโขน คือการปักลวดลายเป็นเครื่องแต่งกายโขน ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแสดงบนเวที เพราะเครื่องแต่งกายจะช่วยให้บทบาทของตัวแสดงในเรื่องรามเกียรติ์ดูสมจริงขึ้น ทั้งยังสอดรับกับหัวโขนที่นักแสดงสวมใส่เพื่อระบุว่าเป็นตัวละครไหนและมีสถานะแบบใดในเรื่องด้วย
เครื่องแต่งกายโขนที่จัดแสดงในนิทรรศการ ‘วิจิตราภรณ์’ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน © อนุชา ทีรคานนท์
คณะภัณฑารักษ์เตรียมงานนิทรรศการ ‘วิจิตราภรณ์’ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน © อนุชา ทีรคานนท์
ลวดลายบนเครื่องแต่งกายของโขน เกิดจากการปักลงบนพื้นผ้าไหมหรือผ้าซาติน ด้วยวัสดุปักที่มีขนาดเล็ก เช่น ดิ้นโลหะชุบเงินและทอง ไหมทอง ไหมสีต่าง ๆ เลื่อมเงินเลื่อมทอง และปีกแมลงทับ จึงเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงที่ต้องใช้ผู้ที่มีทักษะและความสามารถเฉพาะทางเป็นผู้ประดิษฐ์ ตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ สร้างลวดลายด้วยการปัก ไปจนถึงการตัดเย็บเข้าตัวเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องแต่งกาย โดยทั่วไปแล้วเครื่องแต่งกายสำหรับบทตัวนาง จะประกอบด้วยชิ้นส่วนต่าง ๆ จำนวน 4 ชิ้น ส่วนบทตัวพระหรือยักษ์อาจะประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ จำนวน 11-16 ชิ้น และต้องใช้การผูกและเย็บกลึงเข้ากับร่างกายของนักแสดงในการแสดงแต่ละครั้ง
ทักษะงานช่างปักเครื่องแต่งกายมักสืบทอดกันในครอบครัวของช่าง โดยลวดลายและลักษณะการปักประดับมักเป็นไปตามแนวทางที่สืบทอดกันมา ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามสกุลช่าง รวมถึงงบประมาณก็เป็นตัวกำหนดความละเอียดประณีตของผลงานที่ผลิตขึ้นด้วย
เครื่องแต่งกายโขนที่จัดแสดงในนิทรรศการ ‘วิจิตราภรณ์’ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน © อนุชา ทีรคานนท์
การทำงานภาคสนามในแหล่งผลิตเครื่องแต่งกายนั้นเริ่มต้นด้วยการบอกกล่าวถึงความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูล และขออนุญาตบันทึกข้อมูลของผู้ปฏิบัติ กระบวนการผลิต ตลอดจนลวดลายที่ใช้ของช่างแต่ละกลุ่มหรือแต่ละครอบครัว
จากการสำรวจและจัดทำทะเบียนของผู้ปฏิบัติสืบทอด พบว่าปัจจุบันมีช่างในสาขานี้อยู่ในหลายพื้นที่ แต่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในภาคกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล นอกจากนี้ ยังพบว่าในปัจจุบัน มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจเรียนรู้วิธีการจัดทำเครื่องแต่งกาย และสามารถผลิตเครื่องแต่งกายเป็นอาชีพเสริม นอกเหนือไปจากการทำงานประจำ และเริ่มมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันหางานอนุรักษ์ โดยศึกษาค้นคว้าลวดลายและวิธีการจัดสร้างเครื่องแต่งกายจากภาพถ่ายโบราณและชิ้นส่วนเครื่องแต่งกายที่ยังหลงเหลืออยู่จากคอลเลคชันส่วนบุคคลและที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และได้ลองผลิตขึ้นใหม่ตามแนวทางที่เคยมีอยู่ในศตวรรษที่แล้ว ถือเป็นการรื้อฟื้นสกุลช่างปักแนวประเพณีที่หายไปช่วงระยะเวลาหนึ่งให้กลับมาอีกครั้ง
© กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
การตระหนักรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับโขนที่เพิ่มมากขึ้น และงานส่งเสริมและรักษาต่าง ๆ ทำให้เกิดแนวโน้มที่สำคัญคือ มีเยาวชนและมีผู้ปกครองที่สนใจให้ลูกหลานฝึกหัดโขนกันมากขึ้น เกิดความต้องการใช้เครื่องแต่งกายสำหรับการแสดงที่เพิ่มขึ้น เมื่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ ตามโรงเรียนประถมและมัธยมต่าง ๆ จึงมีการออกแบบและจัดสร้างเครื่องแต่งกายรวมถึงหัวโขนที่มีขนาดเล็กลง เหมาะสำหรับให้เยาชนสวมใส่กันมากขึ้น ตลอดจนมีการออกแบบจัดสร้างเครื่องแต่งกายให้มีราคาที่ถูกลง เพื่อรองรับตลาดของนักแสดงที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและรักษาโขนไว้ คือการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโขนในรูปแบบออนไลน์ และการจัดแสดงงานช่างหัวโขน ศิราภรณ์ เครื่องแต่งกาย และประณีตศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับโขน กิจกรรมเหล่านี้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญของงานช่างและการสืบทอดทักษะเหล่านี้ รวมทั้งชื่นชมผลงานอันประณีตงดงามเหล่านี้ด้วย
โดย ผศ. ดร. อนุชา ทีรคานนท์
คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และผู้ช่วยผู้อำนวยการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
คำสำคัญ: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม, มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม, โขน, โควิด-19, การส่งเสริมและรักษา