fbpx “วารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน” ยูเนสโกและพันธมิตรสนับสนุนการเปิดตัวโครงการระยะ 18 เดือนเพื่ออบรมนักข่าวพลเมืองรุ่นเยาว์ในประเทศไทย | Multisectoral Regional Office in Bangkok

“วารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน” ยูเนสโกและพันธมิตรสนับสนุนการเปิดตัวโครงการระยะ 18 เดือนเพื่ออบรมนักข่าวพลเมืองรุ่นเยาว์ในประเทศไทย

“วารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน” ยูเนสโกและพันธมิตรสนับสนุนการเปิดตัวโครงการระยะ 18 เดือนเพื่ออบรมนักข่าวพลเมืองรุ่นเยาว์ในประเทศไทย

โดยชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ อาสาสมัครด้านข้อมูลสาธารณะ ทีมข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ยูเนสโก กรุงเทพฯ


ผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อรวมตัวกันที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ในงานเปิดตัวโครงการวารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน (Journalism that Builds Bridges – JBB) โครงการระยะ 18 เดือนที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโก ยูเอ็นดีพี และสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะปลูกฝังเครือข่ายระดับรากหญ้าของนักข่าวพลเมืองรุ่นเยาว์ทั่วประเทศราว 50 คน เพื่อส่งเสริมเสรีภาพและความหลากหลายของสื่อ

เสรีภาพในการแสดงออกและประชาธิปไตย 

ไม่ต้องกลัวสื่อมวลชน ไม่ต้องกลัวความจริง ตราบใดที่รัฐบาลไม่มีอะไรซ่อนอยู่
คุณหทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการ เดอะอีสานเรคคอร์ด

เพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับการเสวนา วิทยากรผู้ทรงเกียรติทุกท่านล้วนกล่าวนำถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อต่อระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดร.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน (FIEPM) อ้างอิงรายงานของฟรีดอมเฮาส์ การขยายตัวในระดับโลกของเผด็จการ และชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกเผชิญกับภาวะถดถอยติดต่อกัน 16 ปี ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2564 โดยประเทศไทยติดอันดับ 60 ประเทศที่ถดถอยในปี 2564 ในบริบทของบรรทัดฐานประชาธิปไตยที่เสื่อมถอยเช่นนี้ บทบาทของนักข่าวในการเปิดเผยความจริงและทำให้ผู้มีอำนาจแสดงความรับผิดชอบ จึงยิ่งมีความสำคัญและท้าทายมากขึ้น บางครั้งก็ถึงขั้นเสี่ยงภัย

ดร.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน (FIEPM)
ดร.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน (FIEPM)

คุณโจ ฮิโรนากะ หัวหน้าแผนกการสื่อสารและสารสนเทศที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ นำเสนอสถิติที่น่ากังวล โดยอ้างอิงฐานข้อมูลสังเกตุการณ์ของยูเนสโกเกี่ยวกับนักข่าวที่ถูกสังหาร (UNESCO Observatory of Killed Journalists) นักข่าว 955 คนทั่วโลกถูกสังหารในทศวรรษที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ มีนักข่าวสตรีเป็นสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น การฆาตกรรมเหล่านี้โดยเฉลี่ยแล้วร้อยละ 90 ถูกปล่อยให้ลอยนวล นอกจากนี้ อีกหนึ่งการสำรวจโดยยูเนสโกได้เปิดเผยว่า นักข่าวสตรีร้อยละ 75 บอกว่าเคยถูกล่วงละเมิดและคุกคาม ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

คุณโจ ฮิโรนากะ หัวหน้าแผนกการสื่อสารและสารสนเทศที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ
คุณโจ ฮิโรนากะ หัวหน้าแผนกการสื่อสารและสารสนเทศที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ 

แม้จะมีสถิติที่น่าตกใจ แต่ก็มีความคืบหน้าที่ให้ความหวังเช่นกัน คุณฮิโรนากะกล่าวบนเวทีในโอกาสวันครบรอบ 10 ปีของแผนปฏิบัติการของสหประชาชาติว่าด้วยความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวและปัญหาการไม่ต้องรับโทษ (UN Plan of Action on the Safety of Journalists and the Issue of Impunity) จึงได้แบ่งปันกับผู้เข้าร่วมงานว่า กรณีการไม่ต้องรับโทษสำหรับอาชญากรรมต่อนักข่าวลดลงหรือคงเดิมทุกปีนับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการของสหประชาชาติในปี 2555 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการจัดตั้งอย่างน้อย 50 กลไกระดับชาติในการคุ้มครองนักข่าว และจนถึงขณะปัจจุบัน แนวทางและชุดเครื่องมือของยูเนสโกได้ถูกนำไปใช้ในการฝึกอบรมผู้ทำหน้าที่ตุลาการมากกว่า 24,000 คน และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและรักษาความปลอดภัย 11,500 คนทั่วโลกในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและความปลอดภัยของนักข่าว

ในบริบทของประเทศไทย คุณแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นที่ถกเถียง ได้ถูกระงับชั่วคราวในรัฐสภา นอกจากนี้ ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนครั้งที่ 3 ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่เจนีวาในเดือนพฤศจิกายน 2564 รัฐบาลไทยได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อ

คุณแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย
คุณแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย 

ความท้าทายและโอกาสสำหรับวงการสื่อไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อ้างอิงผลงานวิจัยของตัวเอง โดยเสนอความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสในปัจจุบันและอนาคตสำหรับวงการสื่อในประเทศไทย ดร.พรรษาสิริ แบ่งปันข้อสังเกตที่สำคัญว่า สื่อกระแสหลักเน้นรายงานเหตุการณ์ และโดยทั่วไปจะสะท้อนมุมมองของภาครัฐและชนชั้นนำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้ ความไม่สมดุลกันระหว่างผู้มีเพศสภาพต่าง ๆ ในวงการสื่อไทยอาจส่งผลต่อวัฒนธรรมห้องข่าว การเลือกแหล่งข้อมูล และมุมมองในการนำเสนอเนื้อหาข่าว ดร.พรรษาสิริกล่าวว่า วัฒนธรรมห้องข่าวไทยยังขาดความไหวรู้ในเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับเนื้อหาที่มองว่าควรค่าแก่การเป็นข่าว ในสภาพแวดล้อมของการแข่งขันที่เข้มข้นเพื่อแย่งชิงรายได้จากโฆษณา สื่อไทยส่วนใหญ่พยายามเพิ่มการเข้าถึงและศักยภาพในการสร้างรายได้ให้สูงที่สุด โดยเน้นเรื่องราวที่ปุถุชนสนใจ ซึ่งบางครั้งจะนำเสนอแบบเร้าใจเกินความเป็นจริง และอาจเป็นภัยต่อสังคมเสียด้วยซ้ำ การเน้นที่ปัจจัยดึงดูดความสนใจมากกว่าเนื้อหาสาระ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับการทำข่าวสืบสวนเชิงลึกที่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและใช้เวลานานกว่าในการผลิต นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงว่า เมื่อมีความพยายามทำข่าวสืบสวนเชิงลึก อาจจะเป็นการกระตุ้นให้เกิด “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ” (SLAPPs) และคุณภาณุ วงศ์ชะอุ่ม นายกสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ชี้ประเด็นไว้ว่า ในประเทศไทย ความผิดฐานหมิ่นประมาทถือเป็นความผิดทางอาญา จึงทำให้นักข่าวและองค์กรสื่อลังเลที่จะทำข่าวสืบสวนเชิงลึก

แม้ว่าการเติบโตของสื่ออิสระ สื่อภูมิภาค และสื่อพลเมืองในประเทศไทยจะเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าเสียงที่หลากหลายจะมีผู้รับฟัง แต่ก็มีความท้าทายที่หนักหน่วงเช่นกัน ดังที่กล่าวไว้ในการนำเสนอวิดีโอโดยผู้จัดงาน Citizen+ และ FIEPM นักข่าวอิสระในปัจจุบันมักจะทำงานในสภาวะที่เสี่ยง โดยมีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรระดับมืออาชีพ พวกเขามักจะต้องอาศัยแพลตฟอร์มออนไลน์ในการเผยแพร่เนื้อหาข่าว วิดีโอนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ข้อเสียที่ชัดเจนในการพึ่งพาแพลตฟอร์มข้ามชาติ เช่นเฟซบุ๊กและยูทูบ แทนสื่อกระแสหลักแบบดั้งเดิม ก็คือแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นในทุกที่ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการ ดังนั้น แพลตฟอร์มเหล่านี้จึงอาจถูกกดดันให้ปิดกั้นเนื้อหาบางอย่างที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นนั้นพิจารณาว่าเป็นความพยายามล้มล้างระบอบการปกครอง

การรู้เท่าทันสื่อและการมีส่วนร่วมของพลเมือง

ถ้าเราจะทำงานการสื่อสารจริง ๆ มันไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะว่าความจริงต้องถูกพูด...
สิ่งที่น่ากลัวมากกว่านั้นก็คือ จะไม่มีใครสนใจเรื่องที่เราทำ

 อ.ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เป็นไปได้ว่า ความท้าทายหลักสำหรับวงการสื่อไทยโดยรวมก็คือ แม้จะมีการผลิตเนื้อหาที่รอบด้านและเจาะลึก ไม่ว่าจะปรากฏในสื่อดั้งเดิมหรือสื่อทางเลือกก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว เนื้อหานั้นอาจไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากนัก ตัวอย่างเช่น ดร.พรรษาสิริ ตั้งข้อสังเกตว่า ความนิยมอย่างแพร่หลายของสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วจะสะท้อนถึงความต้องการเข้าถึงความบันเทิงมากกว่าความรู้สถานการณ์เชิงลึก ดังที่คุณณรรธราวุธ เมืองสุข จากสมาพันธ์สื่อเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ตั้งคำถามไว้ “ทำอย่างไรที่จะสร้างรสนิยมการเสพสื่อที่หลากหลายมากกว่าเดิม”

การรู้เท่าทันสื่อเป็นเสาหลักหนึ่งของการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ในเรื่องนี้ คุณยูริ ยาร์วิอะโฮ เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ได้ตอกย้ำคุณค่าของการรู้เท่าทันสื่อสำหรับทุกคน ในการกล่าวกับผู้ฟังในงานซึ่งเป็นนักข่าวรุ่นเยาว์ชาวไทยไทย คุณยาร์วิอะโฮได้พูดว่า “ในฐานะคนหนุ่มสาวในแวดวงสื่อ คุณอยู่ในสถานะที่ดีที่จะเรียนรู้ทักษะการอ่านสื่อ และถ่ายทอดทักษะนั้นให้กับชุมชนของคุณ” ผู้ร่วมเสวนาทุกท่านต่างเน้นย้ำเป็นเสียงเดียวกัน โดยสอดคล้องกับความคิดเห็นของคุณยาร์วิอะโฮว่าเส้นทางไปข้างหน้าที่สร้างสรรค์จะต้องมีองค์ประกอบของการทำข่าวที่ยึดพลเมืองเป็นศูนย์กลาง

คุณยูริ ยาร์วิอะโฮ เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย
คุณยูริ ยาร์วิอะโฮ เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย 

คุณสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะจากไทยพีบีเอส ได้มอบข้อคิดว่า ประชาชนในปัจจุบันมีบทบาทที่หลากหลาย โดยเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้เผยแพร่ และผู้พิจารณาตัดสินข้อมูลในที่สุด แน่นอนว่าอำนาจนี้มาพร้อมกับความรับผิดชอบ คุณมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สังคมรู้เท่าทัน [คือสิ่งที่]สำคัญที่สุด” แม้ว่าทุกคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่า สื่อควรจะมีความเป็นกลาง แต่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดทำให้เป็นเรื่องง่ายดายเช่นกันที่จะนำสื่อมาใช้ในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ข้อเท็จจริง จึงก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ในสภาวะที่ท้าทายนี้ คุณมงคลเน้นย้ำว่า ความเต็มใจที่จะรับฟังซึ่งกันและกันโดยปราศจากอคติจะต้องเป็นพื้นฐานสำหรับการสนทนาที่มีเหตุผล แทนที่จะกล่าวดูหมิ่นหรือฟ้องร้องกัน ผู้ร่วมเสวนาทุกท่านเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการหารือและพิจารณามุมมองที่หลากหลาย

“ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ” การกระจายศูนย์และความหลากหลาย

การเติบโตของสื่อทางเลือกและองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยกำลังมอบพื้นที่ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแสดงออกของเสียงที่หลากหลาย วลีของ อ.ธีระพล อันมัย ที่ว่า “ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ” จึงได้รับการหยิบยกมาใช้บ่อยครั้งโดยผู้เสวนาท่านอื่นในการหารือเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องสร้างสะพาน และทำให้แน่ใจว่าเสียงของแต่ละภูมิภาคจะเป็นที่รับฟังในแบบฉบับของภูมิภาคนั้น

จากประสบการณ์ในฐานะอดีตผู้ประกาศข่าวของไทยรัฐทีวี คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์สะท้อนข้อค้นพบของ ดร.พรรษาสิริ ที่ว่าสื่อกระแสหลักของไทยส่วนใหญ่จะเน้นแหล่งข่าวของรัฐ คุณจอมขวัญเสริมว่า สื่อกระแสหลักไม่ได้แค่ยึดกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มที่จะนำเสนอเนื้อหาของภูมิภาค “ในมิติที่น่ารังเกียจ” โดยเลือกที่จะเสนอเฉพาะเรื่องราวที่แปลกหรือน่าสลดใจ ประสบการณ์ของคุณจอมขวัญแสดงให้เห็นว่า การที่ศูนย์กลางมีส่วนร่วมกับชายขอบนั้นยังไม่เพียงพอ แต่คุณภาพของการมีส่วนร่วมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยภูมิหลังของบริบทนี้ อ.ธีระพลยืนยันว่าการเปิดรับเสียงที่หลากหลายเป็นสิ่งที่ส่งเสริมความเข้าอกเข้าใจและลดความเอนเอียงไปสู่ความคิดและการตัดสินแบบเหมารวม อันที่จริงแล้ว ประเทศไทยมีความหลากหลายมาก ทั้งในแต่ละภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค ในฐานะบรรณาธิการของ Louder อ.ธีระพลต้องการเพิ่มระดับเสียงให้กับเสียงที่ไม่ค่อยได้รับการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของชาวนาที่ชีวิตไม่โรแมนติก ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี หรือเสียงของเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์เขมรที่อยู่ในชุมชน LGBTQ+ ด้วย ในทำนองเดียวกัน คุณรุสลัน มูซอ บรรณาธิการสำนักสื่อวาร์ตานี ตอกย้ำว่า หากประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยได้รับพื้นที่ในการแสดงออกอย่างเสรี แทนที่จะถูกบังคับด้วยกฎหมายหรือถูกตราหน้าว่าเป็น “โจรใต้” ความรุนแรงก็คงไม่ปะทุขึ้น

ผู้เข้าร่วมโครงการจากจังหวัดชายแดนใต้ของไทย
ผู้เข้าร่วมโครงการจากจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

แม้จะมาจากหลากหลายภูมิภาค แต่นักข่าวจากชายขอบทั้งหลายต่างต้องเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เพียงแค่ปรากฏในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน เพื่อเป็นการเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น ดร.สมัชชา นิลปัทม์ จากคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้แง่คิดว่า คำว่า “ศูนย์กลาง” และ “ชายขอบ” มาจากการวิเคราะห์ “ระบบโลก” ของนักสังคมวิทยา อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ และสื่อถึงความสัมพันธ์แบบรีดไถระหว่างมหานครศูนย์กลางกับชายขอบที่ด้อยพัฒนากว่า ด้วยการนำชายขอบมาไว้ที่ศูนย์กลางของบทสนทนา การเปิดตัวโครงการวารสารศาสตร์ที่สร้างสะพานมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลนี้ โดยแสดงให้เห็นว่านักข่าวจากชายขอบสามารถสร้างสะพาน เชื่อมโยงเครือข่ายที่แข็งแกร่ง และทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายสำหรับอนาคตที่มีความหลากหลายและเสมอภาคยิ่งขึ้น


ภาพถ่ายโดยเดอะอีสานเรคคอร์ด