fbpx แก่นสารลวดลายจากนิทรรศการงานไม้อนุรักษ์ (Conservation Carpentry Fair 2023) | Multisectoral Regional Office in Bangkok

แก่นสารลวดลายจากนิทรรศการงานไม้อนุรักษ์ (Conservation Carpentry Fair 2023)

แก่นสารลวดลายจากนิทรรศการงานไม้อนุรักษ์ (Conservation Carpentry Fair 2023)

โดยชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ อาสาสมัครด้านข้อมูลสาธารณะ ทีมข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ยูเนสโก กรุงเทพฯ


สืบสานวัฒนธรรมงานฝีมือ

ในโรงไม้อันโอ่โถงของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) คุณโยจิ ฮาชิซูเมะ ช่างไม้ชาวญี่ปุ่น ได้สาธิตงานไม้รอยต่ออย่างประณีตให้กับผู้เข้าร่วมนิทรรศการงานไม้อนุรักษ์ (Conservation Carpentry Fair หรือ CCF 2023) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2566 เมื่อมีคำถามว่าคุณฮาชิซูเมะทำงานตามแบบที่มีการบันทึกไว้หรือไม่ เขาตอบง่าย ๆ ว่า ‘ทั้งหมดอยู่ในหัวของผม’ นี่คือการสาธิตทักษะชั้นเลิศ ซึ่งสะท้อนถึงภูมิปัญญาของช่างฝีมือ โดยคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งได้รับการบ่มเพาะผ่านการฝึกฝนและประสบการณ์ที่สั่งสมมานานหลายปี ได้รับการถ่ายทอดทางกายภาพด้วยการใช้วัสดุ เครื่องมือ และวิธีการที่เหมาะสม

Woodworking demonstration by Mr Yoji Hashizume; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT
Woodworking demonstration by Mr Yoji Hashizume; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT

แท้จริงแล้ว การสาธิตนี้ได้รับการชื่นชมอย่างมาก เนื่องจากคนทั่วไปไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งที่อาจารย์สันธาน เวียงสิมา นักออกแบบอาคาร นักเขียน ช่างไม้และสถาปนิก เรียกว่า ‘บทประพันธ์ของช่างไม้’ ร้ายไปกว่านั้น อู ลา ตอง ช่างไม้ชาวเมียนมาที่มาร่วมเสวนาในงานนี้ ได้แสดงความเสียใจที่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองไม่เอื้อต่อความพยายามอนุรักษ์ในประเทศของตน ที่ซึ่งไม้คือวัสดุหลักสำหรับมรดกสิ่งก่อสร้าง ในขณะเดียวกัน คุณฮาชิซูเมะอธิบายว่าในสังคมที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและมีจำนวนผู้สูงวัยมากขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างประเทศญี่ปุ่น งานไม้ในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้กลายเป็นงานอัตโนมัติไปแล้ว โดยที่เครื่องจักรสามารถตัดไม้ในลักษณะที่ช่างไม้ไม่สามารถทำได้เสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ อาจารย์สันธานเห็นพ้องกับเพื่อนร่วมอาชีพจากต่างประเทศว่า ทุกวันนี้ อาชีพช่างไม้มักถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงและไม่คุ้มค่า แล้วเราจะสามารถรักษาและเผยแพร่วัฒนธรรมงานไม้ได้อย่างไร

จิตวิญญาณของงานสถาปัตยกรรมไทยคืองานไม้
ผศ.ตะวัน วีระกุล 
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Explanation of the process involved in preserving wood planks from Mrigadayavan Palace Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT
Explanation of the process involved in preserving wood planks from Mrigadayavan Palace; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT

ในบริบทของประเทศไทย การเสวนาเกี่ยวกับการกำหนดกรอบมาตรฐานและทิศทางในอนาคตสำหรับวิชาชีพช่างไม้อนุรักษ์ เผยให้เห็นถึงช่องว่างในการฝึกอบรมและการรับรองช่างไม้อนุรักษ์ในปัจจุบัน คุณจุลลดา มีจุล จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ส่งเสริมให้สถาบันฝึกอบรมเน้นการฝึกอบรมตามความสามารถมากกว่าตามระยะเวลา และให้สานสนทนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อทำความเข้าใจความต้องการของตลาดให้ดียิ่งขึ้น ดร. วสุ โปษยะนันทน์ จากกรมศิลปากร กล่าวว่าการฝึกอบรมควรทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถหาเลี้ยงชีพได้อย่างภาคภูมิใจ นอกจากนี้ ดร. วสุ ยังเรียกร้องให้บูรณาการการอนุรักษ์มรดกเข้าไปในหลักสูตรตั้งแต่ปีแรกของการฝึกอบรม แทนที่จะถือว่าเป็นวิชา ‘ลี้ลับ’ ที่ต้องเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาหลังจากที่เชี่ยวชาญทักษะพื้นฐานแล้ว รศ.ดร. วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ประเด็นว่า แม้แต่นักศึกษาปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมก็อาจไม่มีความรู้คำศัพท์พื้นฐานสำหรับส่วนประกอบเครื่องบนของเรือนไทย ด้วยเหตุนี้ รูปแบบสถาปัตยกรรมไม้แบบไทยประเพณีที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนำมาจัดแสดงในงาน CCF 2023 จึงควรค่าแก่การศึกษาในรายละเอียด

Traditional Thai timber architecture, exhibition by Silpakorn University; Photo credit: UNESCO/C. Chongvattanakij
Traditional Thai timber architecture, exhibition by Silpakorn University; Photo credit: UNESCO/C. Chongvattanakij

การอนุรักษ์มรดกจากระดับรากหญ้า

เราทั้งหลายล้วนเป็นหุ้นส่วนในมรดกทางวัฒนธรรม
อาจารย์สันธาน เวียงสิมา
ช่างไม้และสถาปนิก

ยูเนสโกได้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์สู่การฟื้นฟูงานฝีมือแบบดั้งเดิมและการส่งเสริมแนวทางที่อิงชุมชนเป็นพื้นฐานในการอนุรักษ์มรดกก่อสร้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านโครงการรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของยูเนสโก ซึ่งได้ยกย่องโครงการอนุรักษ์ที่โดดเด่นถึง 278 โครงการทั่วภูมิภาค รวมถึง 16 โครงการจากประเทศไทย นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 หนึ่งในโครงการจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลคือ โรงไม้แห่งพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งดำเนินการอนุรักษ์โดยช่างฝีมือท้องถิ่นที่มีความรู้เกี่ยวกับเทคนิคงานไม้แบบดั้งเดิม และซึ่งได้รับรางวัลพิเศษ ‘Special Recognition for Sustainable Development’ เพื่อเชิดชูโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี พ.ศ. 2564

Panel discussion on the UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT
Panel discussion on the UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT

ดังที่ ผศ. ธิป ศรีสกุลไชยรัก จากสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวไว้ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูศาลาวัดคูเต่า จังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับรางวัล ‘Honourable Mention’ ในปี พ.ศ. 2554 ถือเป็นตัวอย่างของความพยายามอนุรักษ์จากระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง โดยเขาเล่าว่า เริ่มแรกต้องเข้าไปอยู่ร่วมในชุมชนพื้นถิ่นเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสร้างความไว้วางใจและทำความเข้าใจความสำคัญของสถานที่สำหรับสมาชิกในชุมชน จากนั้น เขาจึงสามารถระดมความช่วยเหลือจากชุมชนในการอนุรักษ์ศาลานี้ โดยผู้ชายทำงานออกแรง ในขณะที่ผู้หญิงทำความสะอาดกระเบื้องมุงหลังคาเก่าเพื่อที่จะนำมาใช้ใหม่ แม้ว่าการนำวัสดุเดิมมาใช้อีกครั้งจะเกิดจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่ก็มีส่วนทำให้การบูรณะคงความแท้ด้วยเช่นกัน

การบันทึกคุณค่า คุณค่าของการบันทึก

เราต้องดูแล[อาคารเก่า]เหมือนกับผู้สูงอายุในครอบครัว
รศ.ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกจะเห็นพ้องต้องกันว่า โดยหลักการแล้ว การอนุรักษ์จะต้องเคารพความครบถ้วนสมบูรณ์และความแท้ของมรดกก่อสร้าง แต่ความเป็นจริงในเชิงปฏิบัติ เราจำเป็นต้องพิจารณาข้อจำกัดต่าง ๆ และคิดค้นวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น วัสดุเดิมอาจเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันค่อนข้างหายาก และการบูรณะด้วยไม้ชนิดนี้ แม้ว่าจะคงความแท้ แต่ก็อาจจะมีราคาสูงเกินหรือผิดกฎหมายเสียด้วยซ้ำ แม้ในกรณีที่สามารถใช้วัสดุดั้งเดิมได้ในปัจจุบัน อย่างเช่นปูนขาว แต่ผู้รับเหมาก็อาจลังเลที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากจะต้องใช้เวลานานกว่าการใช้วัสดุสมัยใหม่ ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็ตามในเรื่องของวัสดุและวิธีการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเก็บบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนในการอนุรักษ์มรดกก่อสร้าง ในเรื่องนี้ ‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเนคเทค สวทช. และยูเนสโก เป็นเครื่องมือดิจิทัลศักยภาพสูงสำหรับการบันทึกและบริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรมในประเทศไทย นอกจากนี้ ดร.เฟิง จิ่ง หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม ยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า ‘เราจะนำเสนอแหล่งเก็บข้อมูลดิจิทัลออนไลน์สำหรับการอนุรักษ์ไม้ ซึ่งพัฒนาโดยเนคเทคด้วยการสนับสนุนจากยูเนสโก’

ถึงแม้จะยังไม่มีแผนทำการอนุรักษ์มรดกก่อสร้างในอนาคตอันใกล้ การบันทึกข้อมูลก็สามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรือทางจิตใจให้กับคนรุ่นต่อไปได้ หรืออาจจะนำข้อมูลนี้มาประกอบในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ในอนาคต เช่น ที่จังหวัดปทุมธานี มีการค้นพบโบราณวัตถุซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงกระนั้น วัดโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่งในจังหวัดปทุมธานีก็ได้ผ่านการปรับปรุงให้ทันสมัยแล้ว ผศ. กิติศักดิ์ วิทยาโกมลเลิศ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ชี้แจงว่า หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นมีหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูล ไม่ใช่ยับยั้งการปรับปรุงพัฒนา อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไม่ว่าจะดำเนินในนามของการอนุรักษ์หรือการปรับปรุงให้ทันสมัย จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากทั้งชุมชน

บางครั้ง เอกสารบันทึกเองก็มีคุณค่าทางศิลปะเช่นกัน ดังสามารถชื่นชมได้จากนิทรรศการอันน่าประทับใจในงาน CCF 2023 ซึ่งนำแสดงแบบรังวัดทางสถาปัตยกรรมและภาพสเก็ตช์สีสันสดใสโดย VERNADOC Thailand และ Bangkok Sketchers ความหวังก็คือผลงานและการบันทึกเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมองสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของตนในมิติใหม่ และเรียนรู้ที่จะเทิดทูนสิ่งที่พวกเขาอาจจะรู้สึกคุ้นชินจนมองข้ามไป

Exhibitions by VERNADOC Thailand and Bangkok Sketchers; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT
Exhibitions by VERNADOC Thailand and Bangkok Sketchers; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT

นอกจากนี้ มีการส่งผลงานเข้าประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ ‘สืบสาน งานไม้ ลายมือช่าง’ ทั้งหมด 255 รูป ซึ่งล้วนได้นำมาจัดแสดงที่งาน CCF 2023 เช่นกัน ถือเป็นการใช้ภาพเป็นสื่อในการสรรเสริญภูมิปัญญางานไม้และความสง่างามที่หยั่งลึกของสถาปัตยกรรมไม้ไทย

Professional photographers and adjudicators from RMUTT and Baan Lae Suan magazine reviewing entries submitted to the photo contest; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT
Professional photographers and adjudicators from RMUTT and Baan Lae Suan magazine reviewing entries submitted to the photo contest; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT
Award-winning entries from the photo contest; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT
Award-winning entries from the photo contest; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT

วัสดุแห่งอนาคต

ท่ามกลางบริบทของความสำคัญระดับสากลของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งขึ้นในประชาคมโลกในการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน คุณศักดิ์สิทธิ์ โสมนัส คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี วาดภาพอนาคตว่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและความก้าวหน้าทางวัสดุศาสตร์จะทำให้ไม้หวนคืนสู่ความรุ่งโรจน์อย่างในอดีตในฐานะวัสดุก่อสร้างที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

Exhibition by the Center of Excellence in Wood Science and Engineering, Walailak University; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT
Exhibition by the Center of Excellence in Wood Science and Engineering, Walailak University; Photo credit: Faculty of Architecture, RMUTT

รศ.ดร. พรรณนิภา เชาวนะ นักวิจัยจากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อธิบายว่า ไม้เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีน้ำหนักเบา เป็นฉนวนกันความร้อนและกันเสียงได้ดี รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน แต่ไม่เพียงแค่นั้น งานวิจัยยังบ่งชี้ว่าไม้สามารถส่งเสริมสุขภาวะทางอารมณ์ให้กับผู้ใช้อาคารอีกด้วย การใช้ไม้ที่แปรรูปด้วยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมทำให้สามารถก่อสร้างตึกไม้ mass timber อันน่าทึ่ง เช่น ‘Mjøstårnet’ อาคาร 18 ชั้นที่บรูมุนด์ดาล ประเทศนอร์เวย์ และ ‘Ascent MKE’ อาคาร 25 ชั้นที่มิลวอกี รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจเป็นไปได้ว่าหนทางของวิชาชีพช่างไม้ในอนาคตจะทะยานสูงเสียดฟ้าเช่นกัน

ดร.เฟิง จิ่ง หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม ยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้กล่าวในงาน CCF 2023 ว่า ‘ผมหวังว่างานนี้จะมอบโอกาสให้เราได้ทบทวนความสำเร็จในอดีตและองค์ความรู้ที่ได้สั่งสมมา ในขณะเดียวกัน ผมก็หวังว่าเราจะสามารถสร้างเครือข่ายและระบุประเด็นสำคัญอย่างสร้างสรรค์เพื่อความพยายามร่วมกันของเราในอนาคต’


นิทรรศการงานไม้อนุรักษ์ CCF 2023 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วยความร่วมมือระหว่างยูเนสโกและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี และด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจี ประกอบด้วยการเสวนากับผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม การสาธิตงานไม้แบบดั้งเดิมโดยช่างไม้จากสามประเทศ การประกวดภาพถ่ายที่ตัดสินโดยช่างภาพมืออาชีพ และการจัดแสดงนิทรรศการโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เนคเทค ยูเนสโก Bangkok Sketchers และ VERNADOC Thailand


บทความนี้เป็นฉบับแปลจากบทความภาษาอังกฤษที่ดัดแปลงเล็กน้อย จากที่เผยแพร่ครั้งแรกทาง Thailand NOW เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2066


ชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครด้านข้อมูลสาธารณะ ทีมข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ โดยเขาสนับสนุนการรายงาน การแปล การพัฒนาสื่อ และโครงการที่เกี่ยวข้องของยูเนสโกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกเหนือจากการทำงานเป็นนักแปลมืออาชีพแล้ว ชัยรัตน์ยังเป็นนักเปียโนและนักการศึกษาด้านดนตรี เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยโทรอนโต (แคนาดา) ที่ซึ่งเขาได้สอนทฤษฎีดนตรีและวรรณกรรมเปียโน เขาได้นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และได้รับเชิญบรรยายและสอนมาสเตอร์คลาสที่มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันดนตรียามาฮ่า กรุงเทพฯ


คำบรรยายภาพ

คุณโยจิ ฮาชิซูเมะ สาธิตงานไม้รอยต่อ
ที่มารูปภาพ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี

การอธิบายขั้นตอนการอนุรักษ์แผ่นไม้โบราณจากพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ที่มารูปภาพ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี

รูปแบบสถาปัตยกรรมไม้แบบไทยประเพณี จัดแสดงโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่มารูปภาพ: ยูเนสโก/ชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ

เสวนาเกี่ยวกับรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของยูเนสโก
ที่มารูปภาพ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี

นิทรรศการโดย VERNADOC Thailand และ Bangkok Sketchers
ที่มารูปภาพ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี

คณะกรรมการจาก มทร.ธัญบุรี นิตยสารบ้านและสวนและช่างภาพมืออาชีพคัดเลือกผลงานภาพถ่ายเพื่อรับรางวัล
ที่มารูปภาพ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี

ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพถ่าย
ที่มารูปภาพ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี

นิทรรศการโดย ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ที่มารูปภาพ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี