fbpx ‘Learning Coin’ โครงการริเริ่มของยูเนสโก รับมือวิกฤตการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและผู้เรียนข้ามชาติในเอเชียและแปซิฟิก | UNESCO Regional Office in Bangkok

‘Learning Coin’ โครงการริเริ่มของยูเนสโก รับมือวิกฤตการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและผู้เรียนข้ามชาติในเอเชียและแปซิฟิก

‘Learning Coin’ โครงการริเริ่มของยูเนสโก รับมือวิกฤตการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและผู้เรียนข้ามชาติในเอเชียและแปซิฟิก

Inclusive Innovation (Routledge, 2022) หนังสือเล่มใหม่ที่เปิดให้เข้าถึงแบบเสรี ยกย่อง ‘Learning Coin’ ให้เป็นโครงการริเริ่มด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ควรถือเป็นแบบอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


Sowirin Chuanprapun

โดย โศวิรินทร์ ชวนประพันธ์

เจ้าหน้าที่โครงการ กลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD)
สํานักงานยูเนสโกเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ยูเนสโก กรุงเทพฯ)


รายงานสำหรับวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล 18 ธันวาคม 2565

ข้อมูลที่รวบรวมโดยสถาบันสถิติแห่งยูเนสโก (UIS) ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ระบุว่า เด็กและเยาวชน 128 ล้านคนในเอเชียและแปซิฟิกไม่ได้เข้าเรียนในระดับประถมหรือมัธยมศึกษา และเป็นที่แน่นอนว่าตัวเลขนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นนับแต่นั้นมา เนื่องจากการแพร่ระบาดได้ทำให้โรงเรียนทั่วทั้งภูมิภาคปิดการเรียนการสอนไปตั้งแต่ต้นปี 2563

ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิก กำลังได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอย และเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์กว่าเดิมสำหรับประชากรที่ด้อยโอกาสที่สุด สิ่งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 4 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG4) ซึ่งกำหนดให้สร้างหลักประกันว่า ภายในปี 2573 ‘จะมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคและครอบคลุม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน’

นี่เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เนื่องจาก UIS ประเมินว่า ในขณะที่เราก้าวเข้าสู่ยุคหลังการระบาดของโควิด-19 นักเรียน 6.7 ล้านคนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษามีความเสี่ยงที่จะออกกลางคันจากระบบการศึกษา โดยเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดจะมีความเสี่ยงสูงสุด อัตราการออกกลางคันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเมินว่าอาจจะสูงถึงร้อยละ 4 ในภูมิภาคนี้ หมายรวมถึงผู้เรียนจำนวนมากในวัยมัธยมศึกษา เนื่องจากผู้เรียนเหล่านี้เผชิญกับแรงกดดันมากที่สุดที่จะต้องหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว หรือ ในกรณีของเด็กผู้หญิงโดยทั่วไป คือต้องทำงานบ้านและช่วยดูแลน้อง[1]

ในประเทศไทย UIS ได้ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2564 เยาวชนวัยมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่า 800,000 คน อยู่นอกระบบการศึกษา ท่ามกลางการแพร่ระบาด เด็กและเยาวชนข้ามชาติยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา เนื่องจากการปิดโรงเรียนและศูนย์การเรียน พวกเขาจึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้

แม้ว่าการจูงใจให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้กลับเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกันที่จะต้องให้การสนับสนุนแก่ผู้เรียนเหล่านี้ในช่วงวัยรุ่นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาออกกลางคัน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่คาดคะเนได้จากทักษะการรู้หนังสือและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กข้ามชาติเผชิญกับความท้าทายที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากสถานะทางสังคมทำให้พวกเขาตกอยู่ชายขอบของระบบโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม

Learners read on a tablet in Mae Hong Son’s Ban Mae Sa Nga School in Thailand

เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เร่งด่วนนี้ ยูเนสโก กรุงเทพฯ ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ของรัฐบาลไทย และมูลนิธิ POSCO 1% จากสาธารณรัฐเกาหลี ได้ดำเนินโครงการ ‘Learning Coin’ ตั้งแต่ปี 2561  เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนชายขอบและที่อยู่นอกระบบการศึกษาโดยเฉพาะ ด้วยการพัฒนาทักษะการรู้หนังสือขั้นพื้นฐานผ่านการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนด้านรายได้ของครอบครัวพวกเขาด้วย ผู้เข้าร่วมโครงการ Learning Coin มีสิทธิ์ได้รับทุนการศึกษารายเดือน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของรายได้เฉลี่ยของครอบครัว โดยพิจารณาจากความพยายามในการอ่านในแต่ละวัน โครงการนี้ยังส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านดิจิทัลอีกด้วย เนื่องจากผู้เรียนจะได้รับทุนการศึกษา Learning Coin เป็นรายเดือนผ่านการอ่านและลงชื่อเข้าใช้แอปพลิเคชัน ‘LearnBig’ เป็นประจำบนแท็บเล็ตที่โครงการมอบให้ โดยระบบจะมีการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าและคำนวณทุนการศึกษารายเดือนสำหรับพวกเขา

ด้วยความร่วมมือกับคิงส์คอลเลจลอนดอน หน่วยงานนวัตกรรม Nesta และ Circular Design Lab ยูเนสโกมีความยินดีที่จะประกาศว่า แนวทางการอ่านเพื่อการเรียนรู้และสนับสนุนทุนการศึกษาของโครงการ Learning Coin ได้รับการยกย่องว่าเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ควรถือเป็นแบบอย่างในหนังสือ Inclusive Innovation ซึ่งเปิดให้เข้าถึงแบบเสรีและเพิ่งเผยแพร่โดย Routledge Press ในปี 2565 เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่เปราะบาง รวมถึงเด็กชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ เด็กข้ามชาติ และเด็กไร้สัญชาติ โครงการ Inclusive Innovation ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมแนวโน้มและตัวอย่างที่เกิดขึ้นล่าสุด รวมถึงเรื่องราวส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในการนับรวมทุกกลุ่มคน โดยผู้ดำเนินโครงการ 30 ท่านจากทั่วโลกได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมนวัตกรรมที่มุ่งสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียม

Inclusive Innovation

ยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมกับกสศ. กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่าย จะขยายโครงการ Learning Coin ในปี 2566 ให้ครอบคลุม 6 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน นครนายก และยะลา โครงการดังกล่าวจะสนับสนุนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวนอย่างน้อย 500 คน รวมทั้งผู้เรียนข้ามชาติ


โศวิรินทร์ ชวนประพันธ์ เป็นเจ้าหน้าที่โครงการ ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) สํานักงานเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ยูเนสโก กรุงเทพฯ โศวิรินทร์ทำงานให้กับยูเนสโก กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบัน เธอทำหน้าที่รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (LLL) เธอได้ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนชายขอบและที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมถึงผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ ในเอเชียและแปซิฟิกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โศวิรินทร์ยังได้ดำเนินโครงการริเริ่มต่าง ๆ เพื่อมอบโอกาสทาวงการศึกษาผ่านการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นและนวัตกรรมทางการศึกษาสำหรับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงเด็กชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ เด็กข้ามชาติ และเด็กไร้สัญชาติตามพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โศวิรินทร์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส เธอเคยเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นและวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประเทศไทย


รับชมวิดีโอที่บรรยายเรื่องราวของ Pyo Ma Ma Soe ผู้เรียนข้ามชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งภายใต้โครงการริเริ่มนี้

ดาวน์โหลดหนังสือ Inclusive Innovation (เปิดให้เข้าถึงแบบเสรี) ได้ที่ https://inclusiveinnovation.gumroad.com/l/inclusiveinnovation

รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการริเริ่ม Inclusive Innovation ได้ที่ https://www.inclusiveinnovation.io/

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นมาของวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากลได้ที่ https://www.unesco.org/en/days/international-migrants

หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ โศวิรินทร์ ชวนประพันธ์ เจ้าหน้าที่โครงการ กลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) s.chuanprapun(at)unesco.org


แปลจากภาษาอังกฤษโดย ชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ อาสาสมัครด้านข้อมูลสาธารณะ กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ยูเนสโก กรุงเทพฯ


[1] School Closures and Regional Policies to Mitigate Learning Loss due to COVID-19: A Focus on the Asia-Pacific. UIS. 2021.