การปฏิบัติตามหลักความเสมอภาคเพื่อจัดสรรห้องเรียนที่ครอบคลุมทุกคนในเอเชียแปซิฟิก: บทสรุปการประชุม EEA ครั้งที่ 6 โดยยูเนสโกและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แห่งประเทศไทย
โดย
![]() |
![]() |
อลิสา เข็มนาค นักศึกษาฝึกงาน |
ยวิ๋นคัง หลิว อาสาสมัคร |
ยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แห่งประเทศไทย และองค์กรพันธมิตร ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equitable Education Alliance หรือ EEA) ครั้งที่ 6 ว่าด้วย 'การปฏิบัติตามหลักความเสมอภาคเพื่อจัดสรรห้องเรียนที่ครอบคลุมทุกคน' เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 การประชุมในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ระบบและการดำเนินการซึ่งจะส่งเสริมแนวปฏิบัติที่อิงตามหลักฐานในโรงเรียนและห้องเรียน ตลอดจนโครงการในระดับจังหวัดและที่เจาะจงตามพื้นที่เพื่อจัดการกับความท้าทายต่อความเสมอภาคทางการศึกษาจากระดับรากหญ้า
การสัมมนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย คุณปิยาภา สุอังคะวาทิน ผู้จัดการด้านการจัดการความรู้ สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) มีการนำเสนองานวิจัยโดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกสองท่าน ได้แก่ คุณเคท กริฟฟิธส์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย องค์การวิจัยด้านการศึกษาแห่งออสเตรเลีย (AERO) และคุณเคลซีย์ คาร์ลตัน ที่ปรึกษาด้านการศึกษาเชิงกลยุทธ์ของ VVOB ซึ่งได้มาแบ่งปันผลการวิจัยและแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในประเทศออสเตรเลียและประเทศเวียดนาม
การกล่าวเปิดงาน
ในการกล่าวเปิดงาน นพ. สุภกร บัวสาย อดีตกรรมการผู้จัดการกสศ. แห่งประเทศไทย ได้ชี้ถึงประเด็นและทิศทางที่สำคัญสำหรับ EEA ในปี 2566 ว่า
กสศ. และยูเนสโกทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการ EEA โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับผู้เรียนทุกคน เนื่องจาก EEA ทำงานร่วมกับสมาชิก ทั้งองค์กรและผู้ประกอบวิชาชีพ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ EEA ยังคงขยายเครือข่ายต่อไปและทำงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาทั่วโลก ทั้งนี้ EEA ยินดีเชิญชวนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและองค์กรที่สนใจมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรด้วย
กรณีศึกษา
หลังจากการกล่าวเปิดงาน แขกผู้มีเกียรติทั้งสองท่านได้นำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้เข้าร่วมและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกคน
โครงการวิจัยเรื่อง ‘การกระตุ้นศาสตร์แห่งการเรียนรู้’ โดยคุณเคท กริฟฟิธส์ มุ่งเน้นไปที่แนวปฏิบัติที่อิงตามหลักฐานในโรงเรียนและห้องเรียน ในฐานะหน่วยงานอิสระด้านการวิจัยทางการศึกษาแห่งใหม่ของออสเตรเลีย AERO จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลกลาง รัฐบาลประจำรัฐ และเขตปกครองพิเศษ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา AERO มุ่งเน้นทำงานเพื่อความเป็นเลิศและความเสมอภาคในผลการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน ผ่านการใช้ผลการวิจัยทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นที่การดำเนินงานสามประการ: 1. สร้างผลการวิจัยคุณภาพสูง; 2. นำเสนอผลการวิจัยคุณภาพสูงที่ตรงประเด็นและเข้าถึงได้ และ 3. ส่งเสริมการนำผลการวิจัยไปต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงปฏิบัติและเชิงนโยบาย
คุณกริฟฟิธส์ได้กล่าวถึงอุปสรรคที่ระบบการศึกษาของออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้
1. ผลการเรียนของนักเรียนชาวออสเตรเลียกำลังถดถอยในการประเมินระดับสากล ส่วนในการประเมินระดับชาติ ผลการเรียนก็ไม่พัฒนาขึ้น ในขณะที่ช่องว่างด้านความเสมอภาคขยายตัวขึ้น
2. คุณครูต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้การสอนได้ผลสูงสุด และเพื่อให้นักเรียนทุกคน ทุกห้องเรียน และทุกโรงเรียน ได้ประโยชน์จากการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงสุด
3. แม้จะมีผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่าแนวการสอนแบบไหนสามารถสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างได้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจและยังไม่ได้ถูกนำไปปรับใช้ในโรงเรียน
AERO พยายามที่จะพิชิตอุปสรรคทางการศึกษาเหล่านี้ด้วยศาสตร์แห่งการเรียนรู้ หลักฐานจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า มีแนวทางปฏิบัติหลายประการที่เป็นประโยชน์กับนักเรียนทุกคนในออสเตรเลีย เช่น
1: การจัดลำดับการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนสามารถอ้างอิงความรู้เดิมและลดภาระทางปัญญา
2: การสอนที่มีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน พร้อมแบบจำลองและตัวอย่างเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของความจำ
3: ห้องเรียนควรเน้นกิจวัตรเพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้
แนวทางปฏิบัติและประสบการณ์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการใช้อ้างอิงสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาอีกมากมายในเอเชียและแปซิฟิก แนวทางแก้ปัญหาทั้งหมดนี้อิงตามข้อแนะแนวของ AERO ซึ่งประกอบด้วย การแปลงผลและให้คำแนะนำด้านการวิจัย การมีส่วนร่วม การดำเนินงาน แนวทางการติดตามและประเมินผล และกลยุทธ์การสื่อสาร
ดังที่คุณกริฟฟิธส์ชี้ให้เห็น โครงการที่ดำเนินโดย AERO มีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนการนำแนวทางการสอนที่อิงตามหลักฐานไปใช้ โดยคำนึงถึงศาสตร์แห่งการเรียนรู้และการพัฒนา ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ ของภาคการศึกษาจะมีโอกาสในการปรับปรุงผลการเรียนการสอน เช่น สร้างความตระหนักและความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนให้กับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รวมไปถึงแนวทางการสอนในอนาคต ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาควรสำรวจและวิจัยอย่างขะมักเขม้นยิ่งขึ้นว่านักเรียนเรียนรู้อย่างไร จากนั้นก็ปลูกฝังแนวทางการสอนที่อิงตามหลักฐานไว้ในกลยุทธ์และนโยบาย โดยรวมแล้ว การประเมินผลระหว่างการเรียนรู้ คำสอนที่ชัดเจน การเรียนเพื่อรอบรู้ ห้องเรียนที่เอื้อต่อการมีสมาธิในการเรียน และแนวปฏิบัติแบบทิ้งช่วงและดึงความรู้ออกมาใช้งาน ได้กลายมาเป็นข้อแนะนำที่ผ่านการทดลองและทดสอบแล้วสำหรับองค์กรเช่น AERO
ทางด้านคุณเคลซีย์ คาร์ลตัน ได้นำเสนอเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่เน้นไปที่ 'การนำการติดตามเด็กแบบมุ่งเน้นกระบวนการเข้าสู่ระบบการศึกษาปฐมวัยในเวียดนาม' ในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร VVOB ได้สนับสนุนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการยกระดับระบบการศึกษาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี 2535
ในประเทศเวียดนาม VVOB ดำเนินการทั้งหมด 3 โครงการ ซึ่งกระจายอยู่ใน 9 จังหวัด ในบรรดาโครงการเหล่านี้ การติดตามเด็กแบบมุ่งเน้นกระบวนการ (Process-oriented Child Monitoring – POM) และความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับประชากรส่วนน้อยคือประเด็นสำคัญในปัจจุบัน คุณคาร์ลตันได้กล่าวว่า ความท้าทายหลักประการหนึ่งที่ประเทศเวียดนามต้องเผชิญ คือการเพิ่มอัตราการเข้าเรียนโดยที่มอบการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กทุกคน ในขณะที่คุณครูยังขาดทักษะในการสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้อย่างเสมอภาคให้กับทุกคน การพิชิตความท้าทายด้านการศึกษาดังกล่าวได้กลายเป็นเป้าหมายหลักของ VVOB ซึ่งมุ่งที่จะสนับสนุนคุณครูปฐมวัยให้มีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนทุกคนในประเทศเวียดนาม
ผลการวิจัยของ VVOB และรายงานของรัฐบาลท้องถิ่นได้แสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริงเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่เด็กทุกคนที่เรียนรู้โดยใช้ภาษาเวียดนาม ยกตัวอย่างเช่น มีอุปสรรคทางภาษาที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กชาติพันธุ์ในเวียดนาม ตลอดจนยังมีอุปสรรคอื่น ๆ เช่น อุปสรรคต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อัตลักษณ์ทางเพศ ความเข้าใจบริบทของสื่อการเรียนรู้ และการขาดความสนใจในการเรียนรู้ จนกระทั่งความสนใจของเด็กไม่สอดคล้องกับกิจกรรมที่กำหนด เพื่อสำรวจแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คุณคาร์ลตันเสนอว่า จำเป็นจะต้องเข้าใจความหมายที่แท้จริงของ 'การเรียนรู้' สำหรับนักเรียน โดย VVOB กำลังพยายามทำงานโดยอาศัย POM ในโครงการขององค์กร นี่เป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยเลอเวิง ประเทศเบลเยียม และอาศัยการเฝ้าสังเกตเด็กอย่างตั้งใจและเจาะจง เพื่อมุ่งไปสู่การระบุอุปสรรคต่อการเรียนรู้และยกระดับสุขภาวะของเด็กและการมีส่วนร่วมในห้องเรียน
เพื่อดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ คุณคาร์ลตันได้อธิบายไว้ว่า สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจคำนิยามของสุขภาวะและการมีส่วนร่วม เนื่องจากสุขภาวะไม่ได้หมายถึงการมีพฤติกรรมที่ดี เด็กบางคนที่มีระดับสุขภาวะที่ดีก็อาจจะเผชิญกับอารมณ์เชิงลบเช่นกัน และการมีส่วนร่วมสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยุ่งกับกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ในทางกลับกัน 'การมีส่วนร่วมต่ำ' ไม่ได้แปลว่า 'ไม่สามารถทำได้' ด้วยเหตุนี้ ควรบูรณาการสุขภาวะและการมีส่วนร่วมให้เข้ากับแนวปฏิบัติด้านการศึกษาที่บรรลุได้ผ่านการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง ซึ่งคุณคาร์ลตันได้กล่าวถึงวิธีในการยกระดับแนวปฏิบัติเหล่านี้
การบูรณาการ POM เข้าสู่ระบบการศึกษาจะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนงานเฝ้าสังเกตเด็กของคุณครูในแต่ละวัน ตามหลักสูตรใหม่สำหรับการศึกษาปฐมวัยและแนวทางที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนจะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และความเสมอภาคทางการศึกษา ในอนาคต VVOB จะใช้ POM เป็นรากฐานของโครงการการศึกษาปฐมวัยและดำเนินการวิจัยผลกระทบต่อไป
นอกจากนี้ การวิจัยของ VVOB ได้ให้ผลเป็นข้อเสนอแนะ 8 ประการสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ต้องการปรับปรุงคุณภาพของผลการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้
- ควรจัดห้องเรียนให้มีพื้นที่และมุมห้องที่น่าสนใจ
- ควรตรวจสอบห้องเรียนในแง่ของวัตถุทั้งหมด เพื่อนำสิ่งที่น่าสนใจมาแทนที่สิ่งที่ไม่จูงใจ
- ควรนำเสนอเนื้อหาและกิจกรรมที่แปลกใหม่และแหวกแนว
- ควรทำความเข้าใจความสนใจของเด็ก ๆ และหากิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
- ควรสนับสนุนกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ด้วยการกระตุ้นแรงจูงใจและการหนุนเสริมเพิ่มคุณค่า
- ควรเพิ่มโอกาสสำหรับความคิดริเริ่มอย่างอิสระ โดยสนับสนุนด้วยกฎและข้อตกลงที่สมเหตุสมผล
- ควรสำรวจและพัฒนาความสัมพันธ์กับเด็กแต่ละคน และความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ๆ ด้วยกัน
- ควรนำเสนอกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กสำรวจโลกแห่งพฤติกรรม ความรู้สึก และค่านิยม
บทสรุป
หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอกรณีศึกษา ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่เข้าร่วมได้ตั้งคำถามสำคัญหลายข้อสำหรับวิทยากรรับเชิญ คำถามเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาอาจพบเจอได้ในอนาคต คำถามที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีในการชักชวนให้รัฐบาลบูรณาการแนวปฏิบัติที่อิงตามหลักฐานเข้าไปในระบบการศึกษา ในกรณีของประเทศเวียดนาม คุณคาร์ลตันได้ยกตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่าง VVOB และกระทรวงศึกษาธิการและการอบรม โดย VVOB ได้ปรับใช้ทฤษฎีทางการศึกษาให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่น และทำให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาในระดับประเทศ ตลอดจนเชิญกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย และผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการของเวียดนามมาให้การฝึกอบรม POM สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาด้วย
ท่านสามารถอ่านคำถามและคำตอบทั้งหมดได้บนเว็บไซต์ของ EEH ภายใต้ 'News'
ในการกล่าวปิดงาน นพ. สุภกรได้สรุปเนื้อหาของการสัมมนาโดยกล่าวว่า
กรณีศึกษาทั้งสองนี้มีความสำคัญเชิงทฤษฎีในการส่งเสริมการศึกษาที่ยุติธรรม ตลอดจนปรับปรุงคุณภาพการสอนในเอเชียแปซิฟิก และทั่วโลกในที่สุด กรณีศึกษาวิจัยจากประเทศออสเตรเลียและประเทศเวียดนามได้นำเสนอองค์ความรู้และวิธีการใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายในระดับท้องถิ่น EEA จะยังคงมอบเวทีให้กับองค์กรและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และทำงานวิจัยร่วมกัน เพื่อให้บรรลุการศึกษาที่ครอบคลุม เท่าเทียม และมีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ
สามารถรับชมบันทึกการสัมมนาได้บนเว็บไซต์ของ EEH ภายใต้ ‘Video Resources’
อลิสา เข็มนาค นักศึกษาฝึกงานในกลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) ยูเนสโก กรุงเทพฯ ซึ่งดำเนินงานโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการศึกษาที่เสมอภาคร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และพันธมิตรอื่นๆ ในปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการพัฒนาและความยั่งยืน สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อลิสาสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานวิจัยที่สนใจ ได้แก่ การศึกษาที่เสมอภาค การศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาความเท่าเทียมกัน โดยมุ่งเน้นที่เอเชียและแปซิฟิก
ยวิ๋นคัง หลิว อาสาสมัครในกลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) ยูเนสโก กรุงเทพฯ ซึ่งดำเนินงานโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการศึกษาที่เสมอภาคร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และพันธมิตรอื่นๆ ยวิ๋นคังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการพัฒนาระหว่างประเทศที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจเอเชียแปซิฟิก ที่คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ งานวิจัยที่สนใจ ได้แก่ การพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย เอเชียแปซิฟิกศึกษา และธุรกิจและการเมือง