fbpx ทุ่งไหหินในประเทศลาวกำลังบอกอะไรกับเราเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงทางภัยพิบัติในยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา | UNESCO Regional Office in Bangkok

ทุ่งไหหินในประเทศลาวกำลังบอกอะไรกับเราเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงทางภัยพิบัติในยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

ทุ่งไหหินในประเทศลาวกำลังบอกอะไรกับเราเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงทางภัยพิบัติในยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

  • ภูมิทัศน์โบราณคดีเก่าแก่แห่งนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อการท่องเที่ยว แม้ว่าจะเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยยูเนสโกมาได้ 1 ปีเศษ
  • ทว่าการแพร่ระบาดชี้ให้เห็นถึงผลจากเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดและให้เวลาเพื่อการวางแผนบริหารจัดการสถานที่แห่งนี้ให้ดีกว่าเดิม

แหล่งมรดกเกือบทุกแห่งเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงฉับพลันหลังการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโก จำนวนผู้เยี่ยมชมพุ่งสูงขึ้น นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศแห่แหนกันไปยังสถานที่นั้น และกลายเป็นเรื่องในกระแสก็ด้วยสื่อมวลชนหันมาให้ความสนใจ ส่วนชุมชนก็มีกิจกรรมความเคลื่อนไหวกัน แม้ทุ่งไหหินในลาวจะได้รับการขึ้นทะเบียนผ่านมาแล้ว 1 ปีเศษตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทว่าทุกอย่างยังคงเงียบเหงา ซึ่งสาเหตุสำคัญก็เป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 

การพัฒนาที่มากเกินไปอาจเป็นเรื่องน่าปวดหัวที่สุดสำหรับแหล่งมรดกโลกหลาย ๆ แห่ง แต่การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น้อยเกินไปก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน

แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการขึ้นทะเบียนคือเพื่อการอนุรักษ์ แต่หลายประเทศแสวงหาการรับรองนี้ด้วยมุมมองที่อิงตามความเป็นจริงมากกว่า ซึ่งก็คือการยกระดับสถานะของสถานที่แห่งนั้นในเวทีสากลและการเพิ่มรายได้สู่ชุมชน การแพร่ระบาดของโรคกำลังส่งผลต่อความอยู่ดีมีสุขของผู้คนและองค์กรในพื้นที่ อีกทั้งส่งผลถึงความพยายามปกป้องสิ่งเหล่านั้นด้วย สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุ่งไหหินเพียงแห่งเดียว แต่เกิดขึ้นกับแหล่งมรดกโลกทั่วโลก

ก่อนการขึ้นทะเบียนเมื่อปีก่อนหน้า หน่วยงานที่ประเทศลาวร่วมกับยูเนสโกจัดเตรียมเอกสารการเสนอชื่อและแผนการบริหารจัดการมาเป็นเวลา 20 ปี ผู้นำท้องถิ่นได้ฝากความหวังไว้กับสถานะใหม่ที่จะช่วยนำความมั่งมีมาสู่จังหวัดที่ยากจนที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกทิ้งระเบิดหนักที่สุดเมื่อช่วง 40-60 ปีที่แล้ว และปัจจุบันยังคงมีปัญหาจากยุทโธปกรณ์ตกค้างที่ยังไม่ระเบิดอีกด้วย

“ทุ่งไหหิน” เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของไหหินโบราณที่กระจัดกระจายอยู่บนเนินเขาและสันเขามากกว่า 90 แห่งตลอดที่ราบสูงเชียงขวาง ไหหินหลายร้อยใบที่มีอยู่ทั่วเนินอันเขียวชอุ่มไม่เพียงแต่สวยงามน่าทึ่งเท่านั้น แต่ยังมีอายุเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคเหล็กและถือเป็นสถานที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หมู่บ้านใกล้เคียงมีบทบาทสำคัญสำหรับกลยุทธ์เพื่อปกป้องสถานที่แห่งนี้ และอาจจะได้รับประโยชน์จากการที่ทุ่งไหหินเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น แต่จวบจนปัจจุบัน ความหวังที่จะได้รับประโยชน์จากการเป็นมรดกโลกนั้นค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม ชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ทำมาหากินในพื้นที่ชนบทใกล้กับแหล่งโบราณคดีเก่าแก่แห่งนี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

“ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตตามปกติ พวกเขาทำเกษตรและค้าขายกันในท้องถิ่น” คุณทงสวัน คำมณีจันทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลกทุ่งไหหิน กล่าว

การท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและไม่ได้เติบโตดั่งที่คาดหวัง เมื่อลาวใช้มาตรการปิดเมืองทั่วประเทศ ทุ่งไหหินก็ถูกปิดเช่นกันตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 และไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้าชมหรือจัดกิจกรรม หลังจากช่วงเวลานั้นมา ทุ่งไหหินได้กลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบ แต่จำนวนผู้เยี่ยมชมลดลงร้อยละ 70 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากประเทศลาวยังคงไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

“ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นจำนวนมากปิดทำการในเวลาช่วงนี้ ธุรกิจเหล่านี้แบกรับค่าเงินเดือนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ไหวเมื่อเทียบกับจำนวนคนมาเที่ยวชมที่มีน้อยมากแม้ในช่วงสุดสัปดาห์ คุณทาร่า กูจาดูร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว กล่าว “เรื่องนี้เป็นวงจรปัญหา กล่าวคือนักท่องเที่ยวไม่อยากไปเยี่ยมชมหากรู้สึกว่าการท่องเที่ยวไม่ได้ให้บริการตามปกติ แต่ธุรกิจก็ไม่เปิดทำการเพราะจำนวนคนมาเที่ยวชมมีน้อย”

การฟื้นฟูระยะสั้นและระยะยาว

ในการฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้ในระยะสั้น เจ้าหน้าที่กำลังมุ่งหวังว่านักท่องเที่ยวในประเทศจะช่วยเติมตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หายไป

“พวกเรากำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์และการโฆษณาทางโทรทัศน์และวิทยุเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมใหญ่หลาย ๆ งานก็ยังไม่ได้รับอนุญาต เช่น เทศกาลหรือการเฉลิมฉลองอื่น” คุณทงสวัน กล่าว

แม้แต่การฉลองใหญ่ในโอกาสได้รับสถานะมรดกโลก ซึ่งวางแผนจัดงานไว้เมื่อต้นปีที่แล้ว ก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

คุณกูจาดูร์ กล่าวว่า “ความท้าทายคือการทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศอยู่ในพื้นที่นานขึ้นและไปเยี่ยมชมจุดอื่น ๆ นอกเหนือจากทุ่งไหหินแหล่งที่ 1 หากเราสามารถจูงใจนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติในอนาคตให้ไปเยี่ยมชมจุดที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักได้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่เหล่านี้ก็จะมีโอกาสหารายได้จากการขายของที่ระลึก เปิดร้านอาหารขนาดเล็ก ตลอดจนให้บริการและจัดกิจกรรมต่าง ๆ พื้นที่เหล่านี้น่าสนใจมาก ก็เพราะเต็มไปด้วยทิวทัศน์และธรรมชาติที่สวยงามตื่นตา”

แผนพัฒนาการท่องเที่ยวฉบับใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวลาว-นิวซีแลนด์ จะสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมหลาย ๆ จุดผ่านโครงการหนังสือเดินทางมรดก อีกทั้งจะเผยแพร่ให้ลักษณะเฉพาะของแต่ละจุดเป็นที่รู้จักในหมู่ตลาดเฉพาะกลุ่มได้

เช่น นักท่องเที่ยวสายลุยอาจสนใจการเดินเขาในพื้นที่สมบุกสมบัน ในขณะเดียวกัน การปรับปรุงเส้นทางและการมีสถานที่ให้บริการนักท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีนั้น ก็อาจช่วยกระจายกิจกรรมที่หลากหลายให้กับนักท่องเที่ยวในพื้นที่จุดต่าง ๆ ได้

สภาพการณ์อันซบเซาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคเปิดโอกาสเพื่อปรับปรุงการนำเสนอและการบริหารจัดการทุ่งไหหิน นักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมในระยะหลังมานี้ก็จะพบกับป้ายใหม่ที่อธิบายองค์ประกอบของมรดกโลก ป้ายใหม่เหล่านี้จัดทำขึ้นโดยการสนับสนุนของนิวซีแลนด์ ป้ายดังกล่าวเข้ามาช่วยเสริมเติมเต็มการลงทุนก่อนหน้านี้เพื่อยกเครื่องพิพิธภัณฑสถานประจำจังหวัดเชียงขวางและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุ่งไหหินแหล่งที่ 1 ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงศูนย์นักท่องเที่ยว ร้านกาแฟ ร้านขายงานฝีมือ ที่จอดรถ และห้องน้ำ

สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อนักท่องเที่ยวเหล่านี้สามารถช่วยเผยแพร่ผลการวิจัยจากโครงการวิจัยลาว-ออสเตรเลียที่กำลังดำเนินการอยู่และกำลังเผยข้อมูลเชิงลึกของสถานที่ที่เคยเร้นลับแห่งนี้ ใกล้ ๆ ไหหินเหล่านี้ยังขุดค้นพบการฝังศพมนุษย์หลากหลายรูปแบบ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่ฝังไว้ร่วมกับศพ ตลอดจนร่องรอยอื่นของวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีศพ

การบริหารจัดการมรดกที่ดีขึ้นกว่าเดิม

สิ่งสำคัญข้อหนึ่งในการปรับปรุงการบริหารจัดการทุ่งไหหินในระยะยาวก็คือ “การวางระบบบริหารจัดการรายได้ที่ดีขึ้นโดยใช้เครือข่ายของแหล่งมรดกทุ่งไหหินจุดต่าง ๆ ซึ่งรายได้นั้นมาจากเพียงไม่กี่จุดเท่านั้น สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับแหล่งมรดกและสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ตลอดจนภาคธุรกิจเช่นเดียวกัน” คุณรอส คอร์เบ็ต ผู้เชี่ยวชาญโครงการจากนิวซีแลนด์ กล่าว

การดูแลให้รายได้จากการท่องเที่ยวได้รับการกระจายออกไปอย่างทั่วถึงจะเป็นกุญแจสำคัญในการจัดสรรเงินทุนให้กับงานบริหารจัดการและการทำให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์โดยตรง การสร้างแหล่งรายได้อื่นในอนาคตเพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการท่องเที่ยวก็จะช่วยปกป้องเศรษฐกิจท้องถิ่นจากผลของโรคระบาดยืดเยื้อหรือการชะงักงันอื่นในอนาคต

“แม้จะเผชิญความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การดำเนินงานก็เดินหน้าไปแล้วในหลายขั้นตอน” คุณเวียงแก้ว สุขสวัสดี รองผู้อำนวยการกรมมรดกแห่งชาติประจำประเทศลาว กล่าว ในระดับประเทศก็ได้จัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติครั้งที่ 9 ระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ณ เมืองเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อทบทวนเรื่องมรดกโลกในหลายประเด็น ซึ่งสะท้อนว่าการปกป้องสถานที่เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนท่ามกลางภาวะโรคระบาด

สำนักงานการจัดการมรดกโลกทุ่งไหหินที่จัดตั้งขึ้นใหม่ก็กำลังผลักดันความคิดริเริ่มต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการแหล่งมรดกนี้ให้ดียิ่งขึ้น สำนักงานจะทำหน้าที่ประสานงานในระดับชาติและท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มทำงานมรดกในระดับหมู่บ้านซึ่งเป็นแนวหน้าคอยติดตามดูทุ่งไหหินที่กระจายอยู่อย่างกว้างขวางทั่วที่ราบสูง นอกจากนี้ยังมีการปรึกษาหารือในท้องถิ่นเพื่อทำแผนบริหารจัดการการท่องเที่ยว ตลอดจนแผนบริหารจัดการมรดกโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินโดยกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส

ด้วยการแพร่ระบาดของโรคย้ำให้เห็นถึงผลจากเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด เจ้าหน้าที่ด้านมรดกจึงดำเนินการเพื่อระบุความเสี่ยงทางภัยพิบัติและวางแผนมาตรการบรรเทาผลกระทบภายใต้โครงการที่สนับสนุนโดยกองทุนฉุกเฉินด้านมรดกของยูเนสโก นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจภาคสนามโดยใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการนี้เพื่อรวบรวมและนำข้อมูลมาแสดงให้เห็นเป็นภาพ การฝึกอบรมร่วมกับศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาการสงวนรักษาและการบูรณะสมบัติวัฒนธรรม (ICCROM) และโครงการขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (SEAMEO-SPAFA) ได้เปิดให้ผู้ที่อยู่แนวหน้าได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ตำรวจและหน่วยงานบริการฉุกเฉินในจังหวัด รวมถึงตัวแทนจากหมู่บ้าน

นอกเหนือจากทุ่งไหหิน ความสามารถในการปรับตัวของภาคมรดกกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับการเสนอในนโยบายและกลไกต่าง ๆ เพื่อจัดการความเสี่ยงทางภัยพิบัติ สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องดี ๆ ที่มีผลได้ในระยะยาวอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน


เรียบเรียงโดย
มณฑิรา อูนากูล เจ้าหน้าที่โครงการ แผนกวัฒนธรรม ยูเนสโก กรุงเทพฯ และพรรษชล ขาวดี