fbpx การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน | Multisectoral Regional Office in Bangkok

การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน

การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน

กรุงเทพฯ, 26 ตุลาคม 2565 — องค์กรระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ตลอดจนนักการศึกษาจากทั่วโลกมารวมตัวกันในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน เพื่อหารือถึงสถานการณ์การศึกษาที่ชะงักงันไปเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตลอดจนผลที่เกิดขึ้น เช่น สถานการณ์นักเรียนรับมือกับการเรียนออนไลน์ ภาวะการสูญเสียการเรียนรู้ และการฟื้นฟูจากวิกฤติการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ยูเนสโก กรุงเทพฯ), สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของยูนิเซฟ (UNICEF EAPRO), ยูนิเซฟ ประเทศไทย, องค์การรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO), มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย),มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2022 ภายใต้แนวคิด ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน  (International Conference on Equitable Education : Together Towards Equity) ระหว่างวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ   มีนักการศึกษา นักพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 2,000 คน 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การเร่งฟื้นฟูเด็กและเยาวชนกลับสู่ภาวะปกติ จนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยแนวทาง All for Education ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2022  ความรู้และประสบการณ์จากการประชุมจะช่วยให้แต่ละประเทศเกิดแผนฟื้นฟูและพัฒนาเด็กที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เกิดการลงทุนเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืนในระยะยาว  และเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดภาวะ ‘Lost Generation’ ซึ่งจะเป็นความสูญเสียที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทย และสังคมโลกอย่างมหาศาล

นอกจากนี้กสศ.ยังร่วมกับยูเนสโก จัดการประชุมพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 5  หรือ เครือข่ายกสศ.โลก  (The 5th Meeting of Equitable Education Alliance: Identify Opportunities for EEA Activities) ซึ่งมีผู้แทนจาก 10 องค์กร 12 ประเทศเข้าร่วมการประชุมแบบไฮบริด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์   โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนขยายผลให้เกิดการแก้ปัญหาขึ้นในทุกรูปแบบและทุกระดับขั้นการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางในสังคม ต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม

โดยต่างเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ด้านการศึกษาในปัจจุบันเข้าขั้นภาวะวิกฤต การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ช่องว่างความเสมอภาคทางการศึกษาชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคด้านทักษะทางดิจิทัลและความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล สภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว และการดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านการศึกษา วิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มเด็กเปราะบางเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ขณะที่เด็กทั่วไปก็เผชิญกับความเสี่ยงของภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) ดังนั้น การมีแผนเพื่อฟื้นฟูการเรียนการสอนภายหลังการระบาด และการสรุปบทเรียนเพื่อเรียนรู้จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อลดวิกฤต ‘Lost Generation’ ที่กำลังเกิดขึ้น

ตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน และการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้บรรดาพันธมิตรได้นำไปปรับใช้เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง โดยรวมเห็นตรงกันว่าให้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และพัฒนาระบบการศึกษาบนพื้นฐานที่ต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง   นอกจากนั้นยังสนับสนุนการศึกษาในวัยผู้ใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเน้นย้ำว่ากลุ่มการศึกษานอกโรงเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ มีประชากรจำนวนมากจึงต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กลุ่มการศึกษาในระบบรวมถึงแนวทางการจัดสรรเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษา  ส่งเสริมให้เก็บข้อมูลเพื่อให้เงินทุนด้านการศึกษาถูกใช้ไปกับกลุ่มที่ต้องการอย่างแท้จริง

เรื่องที่ทุกประเทศต้องดำเนินการเร่งด่วนในเวลานี้คือการเปิดโรงเรียน การฟื้นฟูการศึกษา  สร้างการศึกษาที่ต่อเนื่องเพื่อทุกคน  และการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและระบบการศึกษา  สิ่งเหล่านี้เป็นบทสรุปใน Bangkok Statement 2022  หรือถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2022  ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 (APREMC-II) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 และผลของการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education Summit: TES) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 77 ที่นครนิวยอร์ก เมื่อกลางเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา  
 คุณริกะ โยโรซุ หัวหน้าสำนักงานบริหารและผู้ประสานงาน โครงการระดับภูมิภาค สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพ ฯ

Ms Rika Yorozu (คุณริกะ โยโรซุ) หัวหน้าสำนักงานบริหารและผู้ประสานงานโครงการระดับภูมิภาค ยูเนสโก กรุงเทพฯ
Ms Rika Yorozu (คุณริกะ โยโรซุ) หัวหน้าสำนักงานบริหารและผู้ประสานงานโครงการระดับภูมิภาค ยูเนสโก กรุงเทพฯ 

Ms Rika Yorozu (คุณริกะ โยโรซุ) หัวหน้าสำนักงานบริหารและผู้ประสานงานโครงการระดับภูมิภาค ยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า ในระดับภูมิภาค ยูเนสโก กรุงเทพฯ จะสนับสนุนการปฏิบัติงานตามถ้อยแถลงความมุ่งมั่นในระดับประเทศหลัง APREMC II และ TES ยูเนสโก กรุงเทพฯ จะยังคงทำโครงการความคิดริเริ่มต่าง ๆ เพื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในภูมิภาค รวมถึงในไทย เรามีความมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการของเครือข่ายพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equitable Education Alliance) ซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้ปฏิบัติงานด้านความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับ กสศ. และภาคีสมาชิกใหม่ที่อาจมาเข้าร่วมหลังการประชุมครั้งนี้

Dr Ethel Agnes Pascua-Valenzuela (ดร. เอเทล แอ็กเนส ปาสกวา-วาเลนซุเอลา) ผู้อำนวยการ SEAMEO ซึ่งได้เข้าร่วม TES ได้แบ่งปันประเด็นหารือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมครั้งนี้ว่า ปฏิญญาของเยาวชน ถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ และความคิดริเริ่มในระดับโลกที่นำเสนอกันที่ TES สามารถนำมาใช้ต่อยอดในการประชุมของเราในครั้งนี้ได้ ซึ่งมุ่งสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจากหลากประสบการณ์และบริบท ด้วยความหวังว่าสิ่งเหล่านี้และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนจะทำให้เราสามารถพลิกโฉมการศึกษาได้และทำให้ระบบการศึกษาครอบคลุมและเสมอภาคมากกว่าที่เป็นมา

สิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องทำก็คือ  การเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอน หลักสูตรการศึกษาต้องปรับโดยมุ่งเน้นทักษะพื้นฐานทางสังคมและอารมณ์ และทักษะทางดิจิทัล ซึ่งสำคัญสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 นอกจากมุ่งเน้นวิชาความรู้แล้ว ต้องไม่ลืมที่จะบ่มเพาะทักษะทางชีวิตอื่นๆ เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้เด็กคนหนึ่งสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพและความถนัดของตนเอง 

กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านการศึกษาก็คือหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับความต้องการและความถนัดของผู้เรียน การประเมินโดยให้น้ำหนักที่ความสามารถของผู้เรียนมากกว่าที่จะนำไปเปรียบเทียบกับใคร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาช่องว่างทางการศึกษาให้เจอเพื่อป้องกันไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ความเสมอภาคเท่าเทียมเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีอยู่ในทุกแนวทางของการฟื้นฟูและเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาในครั้งนี้

การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของไทย และประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก แม้จะมีปัญหาที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการจัดการแก้ไข แต่เป็นเรื่องน่ายินดีที่หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและลงมือทำอย่างแข็งขัน เพราะมีแนวคิดที่ตรงกันว่า ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ได้  

Ms Kyungsun Kim (คุณ คยองซอน คิม) ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand)
Ms Kyungsun Kim (คุณ คยองซอน คิม) ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand)

Ms Kyungsun Kim (คุณ คยองซอน คิม) ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) กล่าวว่า เราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ที่หายไปตั้งแต่ก่อนและระหว่างการระบาดของโควิด-19 การทำงานและประสานงานร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็นของช่วงเวลานี้   ทั่วโลกเพิ่งเริ่มเข้าใจถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 และข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีต่อเด็ก และการเรียนรู้ของพวกเขา  เด็กอายุ 10 ปีจากประเทศยากจนและรายได้ปานกลางไม่สามารถอ่านหนังสือหรือเข้าใจเรื่องราวง่ายๆ ได้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53 เป็นร้อยละ 70  ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐานจำเป็น จึงบั่นทอนโอกาสที่เด็กคนนั้นจะได้รับการพัฒนาจนเต็มศักยภาพ ทำให้ไม่มีทางเลือกมากนัก และบีบให้ต้องจำยอมตกเป็นเบี้ยล่างและการเอารัดเอาเปรียบของสังคม เช่น หากเป็นเด็กหญิงก็ต้องถูกบีบบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควร กลายเป็นคุณแม่วัยใสที่ยังไม่พร้อม หรือหากเป็นเด็กชายก็กลายเป็นแรงงานเด็กราคาถูก   

ผลการศึกษาล่าสุดที่เปิดเผยที่ทางธนาคารโลกจัดทำร่วมกับยูเนสโก, ยูนิเซฟ, กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร (UK government Foreign Commonwealth and Development Office -FCDO), USAID และ มูลนิธิบิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า อัตราความอ่อนด้อยทางการเรียนรู้ของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ในประเทศที่มีการเรียนออนไลน์มาใช้ ส่งผลให้เด็กนักเรียนรุ่นนี้ มีแนวโน้มสูญเสียรายได้ที่ควรจะหาได้จากช่วงชีวิตของตอนถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเทียบเท่าร้อยละ 17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลกในปัจจุบัน

Mr Enkhjin Ganzorig (คุณอินก์จิน กันซอริก) ตัวแทนเยาวชนจากมองโกเลีย และ คุณศิริบุตร มุสิกโพธิ์ ตัวแทนเยาวชนจากไทย
Mr Enkhjin Ganzorig (คุณอินก์จิน กันซอริก) ตัวแทนเยาวชนจากมองโกเลีย และ คุณศิริบุตร มุสิกโพธิ์ ตัวแทนเยาวชนจากไทย

ในช่วงพิธีเปิด ตัวแทนเยาวชน 2 คนแบ่งปันทัศนะว่าด้วยความเสมอภาคทางการศึกษา Mr Enkhjin Ganzorig (คุณอินก์จิน กันซอริก) เยาวชนผู้สนับสนุนงานรณรงค์ด้าน LGBTQI+ จากมองโกเลีย กล่าวว่า เราต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเพราะในก้นบึ้งของหัวใจเรานั้นยังมีความหวังอยู่เสมอว่าเราสามารถสร้างสังคมที่ดีกว่านี้ได้เพื่อทุกคน ขอให้เราใช้เวลานี้พยายามเพื่อ LGBTQI+ และทุกคนที่กำลังต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของปวงชน

ขณะเดียวกัน คุณศิริบุตร มุสิกโพธิ์  เยาวชนผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นจากไทย กล่าวว่า ตัวเธอเองมีความฝันว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะมีระบบการศึกษาและมีโรงเรียนที่เด็กทุกคนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยที่เด็กพิการจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากเด็กทั่วไป อีกทั้งมีครูผู้พร้อมจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาแบบไหน เพราะเด็กแต่ละคนก็มีศักยภาพ ความสามารถ คุณค่า และไม่เหมือนใคร ไม่มีเด็กคนไหนพึงถูกด้อยค่าเพราะเข้าไม่ถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค


ภาพถ่ายโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา