fbpx เรื่องราวของชิทโก: เปิดโอกาสแห่งชีวิต ด้วยการศึกษาที่ไร้พรมแดน | Multisectoral Regional Office in Bangkok

เรื่องราวของชิทโก: เปิดโอกาสแห่งชีวิต ด้วยการศึกษาที่ไร้พรมแดน

Chit Ko’s story: Education without borders, a life without limits

เรื่องราวของชิทโก: เปิดโอกาสแห่งชีวิต ด้วยการศึกษาที่ไร้พรมแดน

เมื่อสองปีที่ผ่านมา ชิทโก เด็กชายต่างด้าวชาวเมียนมาร์วัย 11 ปี ต้องออกจากโรงเรียนเพราะพ่อแม่ของเขาได้ตัดสินใจให้เขาเริ่มช่วยทำงานหารายได้จุนเจือครอบครัว หากพ่อแม่ของชิทโกไม่คิดที่จะเปลี่ยนใจ ชิทโกคงต้องทำงานอย่างเหนื่อยยากในไร่เพื่อหาเงิน และคงไม่มีโอกาสได้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานไปตลอดชีวิต 

ปัจจุบันนี้ ชิทโก อายุ 13 ปีแล้ว และเขาได้ไปโรงเรียน ไม่เพียงแต่ชิทโกจะเรียนเก่งเป็นอันดับที่ 1 ของชั้น แต่เขายังจบการศึกษาด้วยคะแนนสอบสูงสุดในระดับรัฐ เมื่อไม่นานมานี้ ชิทโกได้รับรางวัลในฐานะที่เขาสอบได้คะแนนอันดับสูงสุดของหลักสูตรการศึกษานอกระบบประเทศเมียนมาร์ ระดับประถมศึกษา (NFPE) ประจำรัฐกะเหรี่ยง (กะยีน) 

ทุกคนที่มีส่วนช่วยเหลือชิทโกมาตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ต่างกล่าวว่า มันคือ “ปาฏิหาริย์” นอกจากใจที่เปี่ยมไปด้วยมุ่งมั่นและความใฝ่เรียนรู้ของชิทโกแล้ว ความสำเร็จของชิทโกนั้น ยังเป็นผลมาจากความพยายามและความร่วมมือร่วมใจของครูใหญ่ และอีกหลายหน่วยงานในการส่งเสริมการใช้สื่อไอซีที เพื่อลดปัญหาอุปสรรคทางการศึกษาที่นักเรียนเช่นชิทโกต้องประสบ 

ชิทโกอพยพตามครอบครัวของเขาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เล็ก เนื่องจากครอบครัวของชิทโกมีฐานะยากจนและพ่อแม่เริ่มแก่ชรา พวกเขาจึงต้องการให้ชิทโกออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานและหารายได้ให้แก่ครอบครัว 

1711Chit-Ko-story1.jpg
CREDIT: Sukhon Panthong_Help
without Frontiers

วันหนึ่ง ครูไซขะมาจัน ครูใหญ่ประจำศูนย์การเรียนสุคะหงษาได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ปกครองในชุมชนแรงงานต่างด้าวที่อ. แม่สอด จ. ตาก เพื่อชักชวนให้ส่งบุตรหลานเข้าเรียน เธอได้เดินทางมาเยี่ยมครอบครัวชิทโกด้วย และได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล เช่นเดียวกับผู้ปกครองแรงงานต่างด้าวคนอื่นๆ พ่อแม่ของชิทโกถามเธอว่า “เราจะส่งลูกไปเรียนได้อย่างไร ในเมื่อเราเองยังต้องพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงตัวเองเช่นนี้” 

ครูไซขะมาจันตอบกลับไปว่า “ถ้าชิทโกยังคงทำงานต่อไปเช่นนี้ น้องก็จะต้องมีชีวิตที่ยากลำบากเหมือนกับพ่อแม่” และเธอยังบอกอีกว่า “ฉันจะช่วยออกเงินค่าเล่าเรียนของชิทโกเอง และฉันมั่นใจว่าน้องจะต้องทำได้ดี ขอพ่อแม่ได้โปรดเชื่อฉัน” 

เมื่อพ่อแม่ของชิทโกเชื่อมั่นในตัวครูใหญ่ โอกาสของชิทโกก็กลับมาอีกครั้ง นับตั้งแต่วันนั้น ชิทโกทุ่มเทตั้งใจเรียนอย่างหนัก ความรักในการเรียนรู้และการอ่านของเขาแสดงให้เห็นได้อย่างเด่นชัด เขามักใช้เวลาในการอ่านหนังสือจากแท็บเล็ตที่มีสื่อการเรียนรู้ทั้งในภาษาไทยและภาษาเมียนมาร์ และการเรียนของเขาก็พัฒนาขึ้น ชิทโกเล่าว่า “ผมมีหนังสือเรียนในแท็บเล็ต และยังได้อ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ผมชอบจากแท็บเล็ตด้วย” 

1711Chit%20Ko%20story2.jpg
Credit: Taweepon Kingkaew_TrueCorp

ครูไซขะมาจันกล่าวว่าการนำเอาสื่อไอซีทีเข้ามาใช้ในห้องเรียนนั้น ได้เป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเรียนการสอนที่สุคะหงษา ซึ่งทำให้นักเรียนสนุกสนาน และมีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการเรียน 

“ก่อนหน้านี้ เรามีแค่กระดานไวท์บอร์ด และนักเรียนก็ไม่ค่อยสนุกมากนักในการเรียน พอมีแท็บเล็ตและทีวี เด็กๆ ก็อยากมาโรงเรียน เด็กๆ มีความสุขมากเวลาที่ครูใช้แท็บเล็ตสอน และได้ดูสารคดีหรือการ์ตูนหลังเลิกเรียน” เธอกล่าวต่ออีกว่า “เวลาครูใช้สื่ออุปกรณ์ไอซีที เด็กๆ จะตื่นเต้นมาก ถามคำถามเยอะมากจนครูตอบไม่ไหว บางครั้งเด็กก็อ่านหนังสือมาก่อนล่วงหน้าเลยด้วยตัวเอง” 

การที่ชิทโกสอบได้เป็นอันดับที่ 1 ของหลักสูตร NFPE ในรัฐกะเหรี่ยง (กายีน) ประจำปีการศึกษา 2559 นั้น คือบทพิสูจน์ในความสำเร็จของการส่งเสริมการใช้สื่อไอซีทีเพื่อการศึกษา หลังจากนั้น ยังมีนักเรียนต่างด้าวชาวเมียนมาร์จำนวน 5 คน จากศูนย์การเรียนสุคะหงษา และนิวโร้ด ที่มีคะแนนผลการสอบสูงสุดเป็นลำดับที่ 1-5 จากนักเรียนทั้งหมดจำนวน 1,085 คน ที่เข้าสอบในหลักสูตร NFPE โดยมีการจัดการศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าวในประเทศเมียนมาร์และประเทศไทย นักเรียนเหล่านี้ ต่างได้ใช้สื่อไอซีทีในการเรียนรู้ 

“ครูขอเป็นตัวแทนศูนย์การเรียน ในการขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนพวกเรา รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการไทย ที่ได้เปิดโอกาสให้เด็กต่างด้าวเหล่านี้มีการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการเมียนมาร์ที่ได้อนุญาตให้เรานำหลักสูตรมาใช้ได้” ครูไซขะมาจันกล่าวทิ้งท้าย 

1711Chit%20Ko%20story3.jpg
CREDIT: Sukhon Panthong_Help without Frontiers

ชิทโกยังคงตระหนักถึงโอกาสและสิ่งดีๆ ที่เขาได้รับ เขายังคงสอนนักเรียนรุ่นน้องในการใช้แท็บเล็ต และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ ให้มีนิสัยรักการอ่าน ปัจจุบันนี้ ชิทโกกำลังศึกษาต่อในหลักสูตรการศึกษานอกระบบประเทศเมียนมาร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (NFME) โดยมีพ่อแม่ของเขาสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

“ผมภูมิใจในตัวลูกชายของผมมาก” พ่อของชิทโกกล่าว เขามองไปยังภาพถ่ายของลูกชายที่กำลังรับรางวัลคะแนนสูงสุดของการสอบหลักสูตร NFPE 


ตั้งแต่ปี 2557 สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย ร่วมกับบริษัทไมโครซอฟท์ ทรู คอร์ปอเรชั่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้แก่เด็กด้อยโอกาสตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ ด้วยการเรียนรู้จากสื่อแบบพกพาและสื่อไอซีที ในปัจจุบันเด็กจำนวนมากกว่า 5,500 คน รวมทั้งชิทโก สามารถพัฒนาทักษะการรู้หนังสือและการคิดคำนวณขั้นพื้นฐานได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ภายใต้การสนับสนุนของโครงการฯ 

ชมวิดีโอ ปาฏิหาริย์ของเด็กนอกโรงเรียน: ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กต่างด้าวด้วยไอซีที 

 

โดย โศวิรินทร์ ชวนประพันธ์