ยูเนสโกสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะในประเทศไทยผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
โดยชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ อาสาสมัครด้านข้อมูลสาธารณะ ทีมข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ยูเนสโก กรุงเทพฯ
ยูเนสโกร่วมกับ SDG Move จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับหน่วยงานภาครัฐของไทย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลไทยบรรลุข้อตกลงที่จะใช้แบบสำรวจของยูเนสโกเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะในการรายงานความคืบหน้าของประเทศไทยในด้านตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 16.10.2 ภายในปี พ.ศ. 2573
คุณศศิอร คำอ่อน เจ้าหน้าที่โครงการ แผนกการสื่อสารและสารสนเทศที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ อธิบายว่ายูเนสโกเป็นทบวงการชํานัญพิเศษของสหประชาชาติเพียงแห่งเดียวที่มีอาณัติเจาะจงในการส่งเสริม ‘การแสดงความเห็นผ่านคําพูดและภาพอย่างเสรี’ และ ‘การรักษา เพิ่มพูน และกระจายความรู้’ ด้วยเหตุนี้ ยูเนสโกจึงอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบตัวชี้วัด SDG 16.10.2 ซึ่งติดตาม ‘จำนวนประเทศที่ได้ประกาศใช้และปฏิบัติตามหลักประกันทางรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และ/หรือเชิงนโยบาย สำหรับการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ’
คุณโจ ฮิโรนากะ หัวหน้าแผนกการสื่อสารและสารสนเทศที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า การเข้าถึงข้อมูลเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่บัญญัติไว้ในข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ค.ศ. 1948) และในขอบเขตที่กว้างขึ้นของ SDG 16 เขาเสริมว่า การเข้าถึงข้อมูลเป็น ‘ตัวชี้วัดหนึ่งซึ่งสามารถวัดได้โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงมากที่สุดสำหรับสันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง’
หลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ให้การรับรองทางกฎหมายสำหรับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คุณภาวนา ฤกษ์หร่าย ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและวิเคราะห์ จากสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) แสดงความภูมิใจในประสิทธิภาพของกฎหมายที่ครอบคลุมนี้ โดยอ้างถึงคติพจน์ของ สขร. ที่ว่า ‘เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น’
ในแง่มุมหนึ่ง คุณพันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในบริบทของประเทศไทย การทำงานสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยความพยายามของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยมีรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกและกำกับดูแล แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง คุณศศิอรให้ความเห็นว่า ตามบรรทัดฐานสากล องค์กรกลางซึ่งมีหน้าที่ดูแลและกำกับการบังคับใช้กฎหมาย (oversight body) เช่น สขร. ในประเทศไทย ควรเป็นองค์กรอิสระ แทนที่จะอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นกลางได้
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ยูเนสโกได้สร้างความสัมพันธ์ในการทำงานกับ สขร. และได้เชิญให้หน่วยงานนี้มาเข้าร่วมทำแบบสำรวจประจำปีของยูเนสโกเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะในปี พ.ศ. 2564 และ 2565 อย่างไรก็ตาม ความพยายามนี้ไม่ได้สะท้อนออกมาในการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยความสมัครใจ (VNR) ของประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่กรอกให้กับแบบสำรวจของยูเนสโก
ตัวอย่างเช่น แม้ว่า สขร. จะรับผิดชอบเป้าหมายย่อย SDG 16.10 แต่เป้าหมายหลัก SDG 16 อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยใช้ทั้งมาตรการที่กำหนดขึ้นในระดับประเทศและเครื่องมือที่มาจากหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และโครงการความยุติธรรมโลก (WJP) จากนั้น กระทรวงยุติธรรมส่งข้อมูลเกี่ยวกับ SDG 16 ไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อรายงานใน VNR ของประเทศไทย
ดังนั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ 2 ประการหลัก ประการแรก เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ ได้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับเส้นทางการไหลของข้อมูลที่มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณหทัยชนก ชินอุปราวัฒน์ ผู้อำนวยการกองสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กล่าวว่า สสช. กำลังดำเนินการในเรื่องกรอบมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติและข้อมูลอภิพันธุ์ (SDMX) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรสากลและประเทศสมาชิก
ประการที่สอง เมื่อได้ตระหนักถึงบทบาทของยูเนสโกในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบตัวชี้วัด SDG 16.10.2 ทุกฝ่ายจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรนำแบบสำรวจของยูเนสโกเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะมาใช้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่มีความเกี่ยวเนื่องในระดับสากล นอกจากนั้น ยังเห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีกลไกการทำงานเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมมือกันในการตอบแบบสำรวจของยูเนสโก ในเรื่องนี้ ข้อเสนอของยูเนสโกในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในอนาคตอันใกล้เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการใช้เครื่องมือมาตรฐานนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานรัฐบาลไทยที่เข้าร่วม
ชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครด้านข้อมูลสาธารณะ ทีมข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ โดยเขาสนับสนุนการรายงาน การแปล การพัฒนาสื่อ และโครงการที่เกี่ยวข้องของยูเนสโกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกเหนือจากการทำงานเป็นนักแปลมืออาชีพแล้ว ชัยรัตน์ยังเป็นนักเปียโนและนักการศึกษาด้านดนตรี เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยโทรอนโต (แคนาดา) ที่ซึ่งเขาได้สอนทฤษฎีดนตรีและวรรณกรรมเปียโน เขาได้นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และได้รับเชิญบรรยายและสอนมาสเตอร์คลาสที่มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันดนตรียามาฮ่า กรุงเทพฯ
ภายถ่ายโดย ยูเนสโก/รั่วหาน จาง