ประเทศไทยฉลองอุทยานธรณีโลกแห่งใหม่
8 มิถุนายน 2566 กรุงเทพฯ – รัฐบาลไทยและองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ฉลองการประกาศให้อุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีอุทยานธรณีโลกทั้งสิ้น 2 แห่ง โดยแห่งแรกที่จังหวัดสตูลได้รับการรับรองเข้าสู่เครือข่ายอุทยานธรณีโลกในปี 2561
ในพิธีแสดงความยินดีซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ณ อาคารสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายลี่ปิง วัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้มอบเอกสารรับรองการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกให้กับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อยอดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่อไป
ในบรรดาอุทยานธรณี 18 แห่งทั่วโลกที่ได้รับการรับรองเข้าสู่เครือข่ายอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกในปี 2566 มีเพียงอุทยานธรณีโคราชที่ตั้งอยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
อุทยานธรณีโคราชมีพื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอในบริเวณลุ่มแม่น้ำลำตะคอง ทางขอบทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ราบสูงโคราช จังหวัดนครราชสีมา ลักษณะทางธรณีวิทยาที่โดดเด่นของอุทยานธรณีนี้ ได้แก่ ภูมิประเทศเควสตา หรือเทือกเขาซึ่งมีลักษณะคล้ายมีดอีโต้อยู่ในแนวขนานกัน และซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคจำนวนมาก รวมถึงช้างดึกดำบรรพ์
ในพิธีแสดงความยินดี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้การต้อนรับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้นำเยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับอุทยานธรณีโลกโคราช
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวแนะนำคณะผู้เข้าร่วมพิธี นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นผู้กล่าวรายงานการขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เป็นผู้กล่าวรายงานความโดดเด่นอุทยานธรณีโคราช
อุทยานธรณีโคราชมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโกมาก่อนแล้ว ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชและกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างมรดกทางธรรมชาติกับวัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น
กระทรวงศึกษาธิการในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ มุ่งที่จะดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการพัฒนาที่ยั่งยืนจากเครือข่ายดังกล่าวไปสู่สถานศึกษา โดยเฉพาะโครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือของเครือข่ายการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติขององค์การยูเนสโก หรือ UNESCO Associated Schools Network (ASPnet) ต่อไป
ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุทิน แก้วพนา) ผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ ได้เดินทางไปร่วมพิธีแสดงความยินดีกับอุทยานธรณีโลกโคราชเช่นกัน
ตัวแทนจากหลายองค์กรในจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนโรงเรียนและชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมต่าง ๆ ของอุทยานธรณีโลกแห่งนี้ยังได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ หลังเสร็จสิ้นพิธีการที่ทำเนียบรัฐบาลในวันเดียวกัน
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://bangkok.unesco.org/th/content/unesco-names-18-new-sites-unesco-global-geoparks-network
ภาพถ่ายพิธีการที่ทำเนียบรัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพถ่ายการเยี่ยมชมที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ โดยยูเนสโก/ฌาณชนะ วงศ์โอษฐ์