การประชุมกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) ครั้งที่ 5: การหาแนวทางส่งเสริมกิจกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กรุงเทพฯ (21 ตุลาคม 2565) – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสำนักงานยูเนสโกเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ยูเนสโก กรุงเทพฯ) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) ครั้งที่ 5 ภายใต้การหาแนวทางส่งเสริมกิจกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (The 5th Meeting of Equitable Education Alliance: Identify Opportunities for EEA Activities) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าการพัฒนาความเป็นพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและขยายเครือข่ายดังกล่าวในระดับโลก
EEA เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่มุ่งส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและสร้างชุมชนของนักปฏิบัติการ ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางการศึกษา พันธมิตรมาร่วมกันแบ่งปันวิธีการส่งเสริมและสนับสนุนความเสมอภาคในระบบการศึกษาผ่าน:
1) กรอบกฎหมายและการพัฒนาด้านนโยบาย
2) กลไกการจัดทำงบประมาณและการจัดหาเงินทุน
3) การจัดบริการด้านการศึกษา
4) การติดตามและประเมินผล
มีการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4 และ 17 เพื่อเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรของการเป็นภาคีเพื่อเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษา การประชุมครั้งที่ 5 นี้จัดขึ้นในรูปแบบผสมผสานโดยมีผู้เข้าร่วมทั้ง ณ สถานที่ประชุมและทางออนไลน์ สมาชิก EEA ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยรัฐสมาชิก ผู้แทนประเทศและองค์การต่าง ๆ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้นจาก 12 ประเทศและ 10 องค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย ที่ประชุมพยายามระบุถึงอุปสรรคสำคัญในการดำเนินงานด้านความเสมอภาคทางการศึกษาและแสวงหาความคิดริเริ่มว่าด้วยการประเมินและการวิเคราะห์ความท้าทายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนสมาชิก แสวงหาโอกาสร่วมมือกัน อีกทั้งแนะนำองค์กรและสมาชิกใหม่
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวต้อนรับผู้ร่วมประชุมโดยเน้นย้ำว่า แม้สมาชิกแต่ละหน่วยงานจะมีความแตกต่างกันในหลายด้าน แต่ทั้งหมดก็มีความมุ่งมั่นและมีใจเดียวกันที่จะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของความเสมอภาคทางการศึกษา จากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมได้ผลัดกันแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองต่อสิ่งที่อาจดำเนินการร่วมกันได้ ตลอดจนการหารือว่าด้วยการสนับสนุนสมาชิก
พันธมิตรยังได้เน้นย้ำถึงการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของการเก็บข้อมูลเพื่อให้แน่ใจว่าการจัดสรรเงินทุนนั้นไปถึงชุมชนเปราะบาง การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่อิงจากหลักฐาน การเปิดเผยวิธีการเชิงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการขับเคลื่อนวาระเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การส่งเสริมโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้ใหญ่กลุ่มชายขอบ ตลอดจนการแสวงหาตัวชี้วัดที่ถูกต้องซึ่งสื่อสะท้อนให้เห็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคทางการศึกษาในการปฏิบัติงานจริง นอกจากนี้ การฟื้นฟูและการเร่งแผนการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ในที่ประชุมยังได้แนะนำให้สมาชิกได้รู้จักกับเว็บไซต์ Equitable Education Hub: EquityEdHub (equity-ed.net) เพื่อการสานความร่วมมือด้านความเสมอภาคทางการศึกษายิ่งขึ้นไป เว็บไซต์นี้มีจุดมุ่งหมายบรรลุการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การเข้าถึงกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดที่เหลืออยู่และยังเข้าไม่ถึงการศึกษา และการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้เพื่อทุกคน
ดร.ไกรยส กล่าวปิดงานว่าเราจะก้าวข้ามความท้าทายต่อนโยบายเพื่อความเสมอภาคโดยอาศัยความพยายามของสมาชิกเครือข่าย ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จมีทั้งวิธีการที่แปลกใหม่ การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีคุณภาพ การสนับสนุนนโยบายที่อิงจากการวิจัยและหลักฐาน นอกจากนี้ ดร. ไกรยสยังได้เน้นย้ำถึงการร่วมมือกันแบ่งปันข้อมูล วาระที่มุ่งเน้น ความท้าทาย และบทเรียนที่ได้เรียนรู้ ตลอดจนยังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของการจัดการประชุมครั้งถัดไปในปี 2564 อีกทั้งเน้นย้ำว่าหัวใจสำคัญของ EEA คือความไว้วางใจและการเป็นพันธมิตรอย่างเข้มแข็ง พร้อมด้วยการตัดสินใจลงมือทำเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของปวงชนเพื่อการศึกษา
ภาพถ่ายโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)