เปิดรับสมัครพิพิธภัณฑ์เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ Learning South-East Asian Shared Histories in Museums
ยูเนสโก ร่วมกับสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Research and Development Center on Education for Sustainable Development (ESD)) พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ Museum Minds ขอเชิญพิพิธภัณฑ์ที่สนใจส่งตัวแทนบุคลากร/นักพิพิธภัณฑ์เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Learning Shared Histories in Museums: ออกแบบการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา ภายใต้แนวคิดหลักสูตรประวัติศาสตร์ร่วมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South-East Asian Shared Histories)” ในวันที่ 6-8 เมษายน 2562 (เป็นเวลา 3 วัน) ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (รังสิต)
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทดลองสร้างกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ร่วมกับอาจารย์ โรงเรียนมัธยมศึกษาที่นำหลักสูตรประวัติศาสตร์ร่วมฯ ไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาอาเซียนศึกษา แต่ละพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมอบรมจะได้รับคำปรึกษาที่สอดคล้องกับสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และเป้าหมายทางอาชีพของตนเองจากผู้เชี่ยวชาญในทีม Museum Minds และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) ตลอดการอบรม
ทั้งนี้ วันที่ 8 สิงหาคมตรงกับวันอาเซียน และในเดือนสิงหาคม 2562 โรงเรียนที่เข้าร่วมจะนำนักเรียนมาทัศนศึกษาเพื่อทดลองใช้สื่อการ เรียนรู้ในสถานที่จริง ณ พิพิธภัณฑ์ที่ร่วมโครงการ
เนื่องจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เช่น การร่วมออกแบบสื่อการเรียนการสอนระหว่างโรงเรียนและพิพิธภัณฑ์นั้น ยังไม่มีปรากฏกว้างขวางในวงการพิพิธภัณฑ์ไทย โครงการนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง
เปิดรับสมัครตั้งแต่ 28 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 17.00 น.
*ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมอบรม
ที่มา
หลักสูตรประวัติศาสตร์ร่วมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South-East Asian Shared Histories) เป็นหลักสูตรที่เรียบเรียงขึ้นภายใต้โครงการ “Promoting Intercultural Dialogue and a Culture of Peace in South-East Asia Through Shared Histories” นำโดยยูเนสโก ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตลอดจนเครือข่ายนักประวัติศาสตร์ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในประวัติศาสตร์ของภูมิภาค ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างวัฒนธรรม และการเห็นคุณค่าในความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยได้มีการนำหลักสูตรดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวน 5 โรงเรียนในปัจจุบัน และอยู่ระหว่างดำเนินการขยายเครือข่าย โดยมีคณาจารย์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้นำการอบรมอาจารย์ในโรงเรียนนำร่องทั้งหมด
ในปี พ.ศ. 2561 โครงการดังกล่าวได้ขยายขอบเขตไปสู่การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์โดย Museum Minds ร่วมมือกับสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย ในการสร้างสื่อการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ภายใต้แนวคิดประวัติศาสตร์ร่วม ผลลัพธ์จากโครงการสร้างสื่อการเรียนรู้นี้ได้นำไปพัฒนาเป็นโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Learning South-East Asian Shared Histories in Museums”
ในปีพ.ศ. 2562 นี้ โครงการนี้มุ่งให้เกิดการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างโรงเรียนและพิพิธภัณฑ์ในการร่วมออกแบบการเรียนการสอนเพื่อให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง โครงการเปิดรับสมัครพิพิธภัณฑ์จำนวนไม่เกิน 5 แห่งเพื่อร่วมทำงานกับโรงเรียนจำนวน 5 โรงเรียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมอบรมใด ๆ
คุณสมบัติผู้สมัครและพิพิธภัณฑ์ต้นสังกัด
- สนใจสร้างกิจกรรมหรือสื่อการเรียนรู้สำหรับกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
- พิพิธภัณฑ์ต้นสังกัดต้องมีศักยภาพรองรับการจัดกิจกรรมหรือใช้สื่อการสอนใหม่ ณ พิพิธภัณฑ์
- พิพิธภัณฑ์ต้นสังกัดมีคอลเลคชั่น/เนื้อหาที่สามารถเชื่อมโยงกับวิชาประวัติศาสตร์ร่วมฯ ได้
- พิพิธภัณฑ์ต้นสังกัดสามารถรองรับการเยี่ยมชมและทำกิจกรรมของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาได้ (30-40 คน)
- พิพิธภัณฑ์ต้นสังกัดสามารถส่งบุคลากรมาร่วมโครงการอบรมและร่วมออกแบบและสร้างสื่อการเรียนรู้ได้จำนวน 2 ท่าน
- บุคลากรที่ร่วมโครงการต้องนำเสนองานด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ของตนในระหว่างการอบรม โดยเชื่อมโยงกับวิชาประวัติศาสตร์ร่วมฯ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างพิพิธภัณฑ์และโรงเรียน
- บุคลากรที่ร่วมโครงการต้องสามารถมีเวลาทำงานร่วมกับโรงเรียนในการอบรม 3 วัน และการเตรียมการและจัดทัศนศึกษาในเดือนสิงหาคมได้อย่างเต็มที่
สิ่งที่จะได้รับ
- ได้เรียนรู้วิธีการใหม่ในการสร้างสื่อการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงและส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียน
- ได้ต่อยอดทางความคิดจากเนื้อหาเดิมที่มีอยู่แล้วของพิพิธภัณฑ์ของท่านให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ใหม่และมุมมอง ประวัติศาสตร์ร่วมฯ ซึ่งเป็นมุมมองที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมในระดับโลก
- ได้สร้างสื่อการเรียนรู้ที่ตอบรับกับความต้องการของโรงเรียนที่นำหลักสูตร South-East Asian Shared Histories ไปใช้ในโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป เนื่องจากเนื้อหาว่าด้วยอาเซียนได้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรแกนกลางระดับมัธยมศึกษาของทุกโรงเรียนในประเทศแล้ว
- เพิ่มจำนวนผู้เข้าชมที่เป็นหมู่คณะในระดับมัธยมศึกษา
- ได้ร่วมงานกับทางโรงเรียนในมิติใหม่เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างโรงเรียนและพิพิธภัณฑ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
- บุคลากรพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมจะได้รับประกาศนียบัตร Certificate of Participation รับรองการผ่านโครงการจากยูเนสโกและสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย
- พิพิธภัณฑ์ต้นสังกัดจะได้รับประกาศนียบัตร Certificate of Appreciation ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องของประเทศจากยูเนสโกและสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย
- ได้รับช่วยเหลือค่าเดินทางมาร่วมอบรมท่านละ 1,200 บาท
*ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมอบรม
วิธีการสมัคร
- ดาวน์โหลดใบสมัครเพื่อกรอก >> DOWNLOAD <<
- ส่งใบสมัครเข้ามาที่ museumminds@gmail.com
- เปิดรับสมัครตั้งแต่ 28 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 17.00 น.
- พิจารณาคัดเลือกและประกาศรายชื่อเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือก โดยตอบกลับทางอีเมล์ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
Photo credit: Gunawan Kartapranata