fbpx UNESCO and ONIE support 8 pilot projects to teach living heritage and sustainable development in non-formal and informal education | UNESCO Regional Office in Bangkok

UNESCO and ONIE support 8 pilot projects to teach living heritage and sustainable development in non-formal and informal education

UNESCO and ONIE support 8 pilot projects to teach living heritage and sustainable development in non-formal and informal education

คู่มือการสอนด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการศึกษาในการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย [DOWNLOAD ภาษาไทย]

โครงการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านศูนย์การเรียนชุมชนในประเทศไทย

ยูเนสโก และ กศน. มอบ 8 ทุนนำร่องการสอนมรดกภูมิปัญญาและการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ร่วมกันนำร่องโครงการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านศูนย์การเรียนชุมชนในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2564 ถึง 2565 โดยโครงการนี้อยู่ภายในแผนงานระดับโลกแผนงานใหม่ของยูเนสโก เรื่อง มรดกที่มีชีวิตและการศึกษา (Living Heritage and Education) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่นำร่องแผนงานนี้เพียง 2 ประเทศเท่านั้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ ประเทศเนปาล และประเทศไทย

ทั้งนี้ โครงการในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ข้อมูลและการสร้างเครือข่ายเพื่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโก (ICHCAP) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี

โครงการนี้มุ่งสร้างความตระหนักและเข้าใจในแนวคิด หลักการและวิธีการในการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือสอนวิชาต่าง ๆ ส่งเสริมให้ครู กศน. ได้เพิ่มพูนทักษะในการประยุกต์และปรับปรุงรายวิชาที่เปิดสอนอยู่ ณ กศน.ตำบลต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมท้องถิ่น โดยการสอดแทรกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ และสร้างโอกาสให้เกิดการตกผลึกในองค์กรเพื่อพัฒนาแผนการเรียนรู้ใหม่ ที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

กิจกรรมภายใต้โครงการระยะนำร่องนี้ประกอบด้วย การวิเคราะห์ความต้องการของหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และประเด็นที่ท้าทายการจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยในประเทศไทย การอบรมครูจากสถานศึกษาในสังกัด กศน. เรื่อง การบูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการศึกษา การมอบทุนสนับสนุนและติดตามความก้าวหน้าในการจัดการสอนตามแผนการเรียนรู้ที่บูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ใน กศน. อำเภอนำร่อง ทั้ง 8 แห่ง การพัฒนาคู่มือการสอนด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการศึกษาในการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย และการร่วมจัดงานวันระลึกปีสากลแห่งการรู้หนังสือ (International Literacy Day) เพื่อนำเสนอผลงานภายใต้โครงการนี้

ทุนสนับสนุนการจัดการสอน

คณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก กศน. และ ยูเนสโก ได้ร่วมกันพิจารณามอบทุนสนับสนุนการจัดการสอนตามแผนการเรียนรู้ที่บูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ใน กศน. อำเภอ จำนวน 8 ทุน ทุนละ 30,000 บาท พร้อมรางวัลพิเศษด้านการออกแบบแผนการเรียนรู้ที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ที่สะท้อนวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาของยูเนสโกและพันธะกิจของ กศน. อีก 3 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท สำหรับการนำร่องจัดการสอนตามแผนการเรียนรู้ที่บูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

กศน. อำเภอ 8 แห่งที่ส่งแผนการสอนและได้รับคัดเลือก ได้แก่

  1. กศน. อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทเขิน”
  2. กศน. อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “สมุนไพรพื้นบ้านกับการดูแลสุขภาพ”
  3. กศน. อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “ศูนย์เรียนรู้บ้านป้าเหงี่ยม ม่อฮ่อมแพร่ แหล่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” และได้รับรางวัลการออกแบบแผนการเรียนรู้ที่โดดเด่นด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของมรดกภูมิปัญญา
  4. กศน. อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “หลวงพ่อวัดไร่ขิง มิ่งมงคล คนสามพราน”
  5. กศน. อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “วิถีชีวิตมอญบางขันหมาก”
  6. กศน. อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “สืบสานงานทอผ้าจก”
  7. กศน. อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “ลูกหยียะรัง มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นแห่งชุมชนดงต้นหยี” และได้รับรางวัลการออกแบบแผนการเรียนรู้ที่โดดเด่นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและนวัตกรรม
  8. กศน. อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับกล้วยหิน” และได้รับรางวัลการออกแบบดีเด่นด้านสมรรถนะ วิธีการเรียนการสอน และกิจกรรม

ทั้งนี้ กิจกรรมทดลองสอนใน 8 กศน. อำเภอ ได้ช่วยให้ครูและผู้เรียนที่เข้าร่วมเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งในแนวคิดและหลักการสากลเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น สามารถประยุกต์และถ่ายทอดความรู้และทักษะการบูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการสอนให้แก่ผู้อื่นได้ เกิดการวิเคราะห์และทบทวนรายวิชาที่เปิดสอนอยู่ และชี้ประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อยอด อีกทั้งพัฒนาแผนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ทั้งช่วยรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และตอบสนองต่อความจำเป็นและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือเศรษฐกิจ

โอกาสในอนาคตสำหรับสถานศึกษาภายใต้ กศน.

ยูเนสโกได้นำผลสำเร็จของโครงการในระยะนำร่องนี้ อันเป็นผลงานที่น่าชื่นชมของคณะครูจาก กศน. อำเภอ ทั้ง 8 แห่ง ไปเผยแพร่ในระดับนานาชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนโครงการเช่นนี้อีก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

เพื่อให้สถานศึกษาภายใต้ กศน. แห่งอื่น ๆ สามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากโครงการระยะนำร่องไปต่อยอดได้ กศน. และยูเนสโก ได้จัดทำคู่มือการสอนด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการศึกษาในการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ซึ่งรวบรวมหลักการและตัวอย่างที่ดีจาก กศน. อำเภอนำร่อง และโครงการที่เกี่ยวข้องของยูเนสโก เพื่อเปิดโอกาสที่กว้างขวางและชัดเจนยิ่งขึ้นให้กับสถานศึกษาอื่น ๆ ภายใต้ กศน. ให้ได้รับประโยชน์จากแผนงานระดับโลกนี้ได้ในอนาคต